ป่าหินงาม

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อยู่ในพื้นที่อำเภอเทพ สถิต จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 62,437.50 ไร่ หรือ 99.9 ตารางกิโลเมตร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระ เจียว หรือบัวสวรรค์ พันธุ์ไม้ล้มลุกประจำถิ่นมีดอกสีชมพูอมม่วง




ในช่วงต้นฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมนี่เอง ดอกจะบานสะพรั่งสวยงามเต็มท้องทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียว ผสมกับไอหมอกและลมเย็น เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่างภาพทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ

อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำชี และแม่น้ำป่าสัก มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าเต็งรังผสมผลัดใบป่าดิบแล้ง มีไม้เหียงเป็นไม้เด่น และไม้ อาทิ เต็ง รัง พะยอม ก่อ กระบก ประดู่ อินทนิลบก และส้าน เป็นต้น

ส่วนสัตว์ป่าในพื้นที่ ได้แก่ เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า นิ่ม เม่น อ้น อีเห็น กระรอก และลิง เป็นต้น

ได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2550 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 105 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ประกอบไปด้วยภูเขาต่างๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200-800 เมตร

ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพาน หมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180-230 ล้านปี ยุค จูราสสิก และไทรแอสสิก

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 33 องศาเซลเซียส ในเดือนเม.ย. เฉลี่ยต่ำสุด 18.3 องศาเซลเซียส ในเดือนธ.ค. และอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 24.8 องศาเซลเซียส

ฤดูฝน ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 278.5 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนต.ค.-ม.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 23.2 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 25.9 องศาเซลเซียส

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นอกจากทุ่งดอกกระเจียวแล้ว ยังมีจุดชมวิวที่สวยงาม เช่น
'สุดแผ่นดิน' เป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 846 เมตร เป็นแนวรอยต่อภาคอีสานกับภาคกลาง มองเห็นวิวของสันเขาสลับซับซ้อน มีลมพัดเย็นสบายตลอดวันแม้ในฤดูร้อน

'ผาก่อ-รัก' ห่างจากจุดชมวิวสุดแผ่นดินไปอีกประมาณ 400 เมตร มีดอกกระเจียวสีขาว สวยไปอีกแบบ ทางอุทยานจัดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยลักษณะเป็นป่าเต็ง-รัง เป็นป่าโปร่ง มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นอย่างมาก

'ลานหินงาม' เป็นลานหินมีรูปร่างแปลกตาในพื้นที่ กว่า 10 ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหิน จึงมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน อาทิ หินตะปู หินเรดาร์ หินปราสาทโบราณ หินแม่ไก่ หินบัลลังก์ หินพญานาค และ หินถ้วยฟุตบอลโลก ที่โด่งดังเมื่อปี 2553 ตอนฟุตบอลโลก 2010 โดยนายมานิต เพชรล้ำ หัวหน้าอุทยานในตอนนั้นตั้งชื่อว่า 'หินฟีฟ่าเวิลด์คัพ 2010' เพื่อรับกระแสบอลโลก 2010

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการไปเที่ยว สอบถามได้ที่ททท. 1672 หรือที่อุทยาน โทร. 0-4489-0105