บอกรักวาเลนไทน์ สไตล์ญี่ปุ่น

เทศกาลแห่งความรัก มีของขวัญอย่างดอกไม้ ช็อกโกแลต และตุ๊กตา เป็นสื่อแทนความรู้สึกแบบยอดนิยมตลอดกาล แต่สำหรับหนุ่มสาวชาวแดนปลาดิบไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะนอกจากจะมีวาเลนไทน์ เป็นวันที่ "ผู้หญิงจะให้ช็อกโกแลตแก่ผู้ชาย ยังมี White Day วันที่ 14 มีนาคม ซึ่งผู้ชายจะให้ของขวัญแก่ผู้หญิงแยกต่างหากด้วย




ที่มาก็ดูเป็นการตลาดล้วนๆ ว่ากันว่า เมื่อปี 1936 บริษัทช็อกโกแลตชื่อดังชื่อ Morozoff ได้โปรโมตวันวาเลนไทน์ให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักเป็นครั้งแรกด้วยการโฆษณาว่า เป็นวันสำหรับให้ของขวัญกับคนรัก แต่ว่าในปีที่มีการโฆษณานั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนในปี 1958 เจ้าของร้าน Mary's Chocolate ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์จากเพื่อนของเขาในยุโรป ทำให้เกิดความคิดที่จะแนะนำเทศกาลนี้ในญี่ปุ่นอีกครั้ง และเพื่อเสริมยอดขายช็อกโกแลตของทางบริษัท จึงตัดสินใจจัดแคมเปญพิเศษ และโฆษณาว่าในวันวาเลนไทน์นั้น ขอเชิญชวนผู้หญิงให้ช็อกโกแลตเป็นของขวัญแก่ผู้ชายกันเถอะ ที่ห้างสรรพสินค้า Isetan สาขาชินจูกุ ในโตเกียว เนื่องลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาชอปปิงเป็นผู้หญิงนั่นเอง

หลังจากนั้นมีการจัดแคมเปญนี้ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ก็ทำให้บริษัทอื่นๆ ทำตามบ้าง จนในที่สุดวาเลนไทน์กลายเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น สมาคมช็อกโกแลตและโกโก้ของญี่ปุ่น จึงได้ทำการบัญญัติให้วันที่ 14 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันแห่งช็อกโกแลต เพื่อให้บริษัทขายช็อกโกแลตต่างๆ โปรโมตและขายช็อกโกแลตได้ง่ายมากขึ้น และในที่สุดก็กลายเป็นธรรมเนียมว่าวาเลนไทน์เป็นวันที่ผู้หญิงจะให้ช็อกโกแลตกับผู้ชาย

ส่วนวัน White Day ที่กำหนดขึ้นหลังวาเลนไทน์หนึ่งเดือนนั้น ริเริ่มโดยร้านขายขนมชื่อ Ishimura Manmoridou ในเมืองฟุกุโอกะ เมื่อปี 1978 ก่อนจะมีการสานต่อด้วยการโปรโมตให้มีการให้ของขวัญที่เป็นสีขาว โดยในวันที่ 14 มีนาคม ผู้ชายจะมอบคุกกี้หรือลูกกวาด (Candy) ให้เป็นของขวัญแก่ผู้หญิงที่ให้ช็อกโกแลตแก่ตนในวันวาเลนไทน์ เพื่อเป็นการขอบคุณ (หรือตอบรัก) หรือเป็นการสารภาพรักแก่ผู้หญิงที่ตนชอบ และเพื่อไม่ให้น้อยหน้า สมาคมอุตสาหกรรมลูกกวาดแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงได้บัญญัติให้วัน White Day เป็นวันแห่งลูกกวาดด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว วาเลนไทน์จะให้อะไรกับใคร อย่างไรดี ...จะเลือกสไตล์ญี่ปุ่นหรือไทย ก็อย่าให้การตลาดมามีอิทธิพลเหนือความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน