วิธีเลือกรองเท้า ที่เหมาะสม

หลักในการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม มีดังนี้

– เลือกคู่ที่มีขนาดเหมาะสม
ความยาวของรองเท้าที่เหมาะสมคือ ส้นเท้าจะชิดส้นรองเท้าพอดี และส่วนหัวรองเท้าจะเหลือพื้นที่เท่ากับความกว้างของนิ้วหัวแม่มือ เมื่อวัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนิ้วหัวแม่เท้าเสมอไป หัวรองเท้ากว้างและลึกพอจนไม่กดและเสียดสีกับนิ้วเท้า และส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าควรตรงและพอดี กับตำแหน่งที่กว้างที่สุดของเท้า



– เลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่ายๆ
ถ้าต้องเดินในช่วงกลางวัน ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย เพราะเท้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเดินมาตลอดทั้งวัน เนื่องจากเลือดไหลเวียนลงสู่เท้ามากขึ้น จึงเหมาะที่จะเลือกรองเท้าเพื่อป้องกันปัญหารองเท้าคับ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและชีวิตประจำวันด้วย

– ลองรองเท้าทั้งสองข้างเสมอ
เท้าคนเราสองข้างไม่เท่ากันจึงควรลองรองเท้าทั้งสองข้าง และเดินไปมาเพื่อดูว่าสบายเท้าหรือไม่

– เผื่อที่กันคับ อุปกรณ์เสริมในรองเท้าต่างๆ
เช่น แผ่นรองเท้าแผ่นกันรองเท้ากัด ฯลฯ จะทำให้รองเท้าคับขึ้น หากต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

– แบนไปไม่ดี
พื้นรองเท้าที่แบนราบเกินไป ไม่เหมาะกับสรีระเท้าต่อการรับน้ำหนัก ดังนั้น หากใส่รองเท้าควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและเสริมบริเวณอุ้งเท้าจะดีกว่า

รองเท้าส้นสูง และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

การที่เราสวมใส่รองเท้าส้นสูง เรามักจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ อาทิ อาการปวดเมื่อย เช่น ที่ฝ่าเท้า นิ้วเท้า น่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ากล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป จนทำให้เกิดการเมื่อยล้าหรือกล้ามเนื้อบางมัดถูกยืดมากเกินไป หรือกล้ามเนื้อบางมัดก็หดเกร็งเป็นเวลานานๆ เช่น กล้ามเนื้อน่อง ย่อมจะทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี และในที่สุดจะเกิดการกดทับของเอ็นร้อยหวายได้

ในกรณีของรองเท้าส้นสูง ถึงแม้จะดูสวยสง่าเวลาสวมใส่ แต่การใส่ส้นสูงนานๆ ก็อาจมีปัญหาปวดฝ่าเท้า นิ้วเท้า ปวดน่อง ปวดหลังผิวฝ่าเท้าส่วนหน้าอาจด้านและแข็งเป็นไต เพราะต้องรับน้ำหนักมาก

ควรใส่ส้นสูงเมื่อจำเป็น
ดังนั้น ควรใส่ส้นสูงเมื่อจำเป็น เช่น ออกงานกลางคืน และไม่ควรใส่นานเกินสองถึงสามชั่วโมง เพื่อที่เท้าจะได้ไม่รับบทหนักจนเกินไป เท้าก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ ที่ควรได้รับการทะนุถนอมดูแลเอาใจใส่ตามสมควร การนวดบำบัดบ้างก็น่าจะเป็นการช่วยผ่อนคลายให้เท้าเราสบายขึ้น เพราะฉะนั้น ลองหาเวลาว่างๆ สักวันไปนวดคลายความเมื่อยล้ากันบ้าง ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการดูแลเท้าคู่สวยของเรา

ปัญหาอื่นๆ เมื่อใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม

นอกจากปัญหาที่เกิดจากการสวมใส่รองเท้าส้นสูงแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ได้แก่

1. นิ้วหัวแม่เท้าเก
พบได้ในผู้ที่ใส่รองเท้าหน้าแคบ ทำให้นิ้วหัวแม่เท้าเกหรือบิด เข้าสู่นิ้วชี้ ทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้าที่นูนออก เพราะเสียดสีกับรองเท้า อาจเกิดหนังด้านและมีการอักเสบของถุงน้ำที่บริเวณนี้ได้

บางครั้งนิ้วหัวแม่เท้าเบียดนิ้วเท้าอื่นๆ ทำให้นิ้วเกยกัน ถ้าเป็นมากจะพบว่านิ้วชี้เท้าถูกเบียดลอยขึ้นอยู่บนนิ้วหัวแม่เท้า ผิวด้านบนของนิ้วเท้าที่เกยกัน อาจเสียดสีกับรองเท้าทำให้เกิดหนังด้าน บางรายอาจมีอาการปวดจากเยื่อหุ้มข้อทางด้านในถูกดึงยืด และจากเส้นประสาททางด้านในถูกกดและดึงรั้งด้วย

นอกจากนี้ การมีนิ้วหัวแม่เท้าเก ทำให้นิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ภาระจึงตกอยู่กับฝ่าเท้าบริเวณนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อยแทน ทำให้เจ็บบริเวณฝ่าเท้าและมีหนังด้านเกิดขึ้น

2. ปวดฝาเท้าด้านหน้า
พบได้ในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ทำให้ฝ่าเท้าจะต้องรับน้ำหนักมาก อาการปวดจะเป็นเฉพาะเวลาเดินบนพื้นแข็ง หรือใส่รองเท้าส้นสูง และมักจะลดลงเมื่อเดินบนพื้นนุ่มๆ ใส่รองเท้าพื้นนิ่ม หรือใส่รองเท้าส้นเตี้ย บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่นิ้วเท้าและข้อเท้า โดยมักพบหนังด้านบริเวณฝ่าเท้าด้วย

3. มีหนังด้านหรือตาปลาที่ฝาเท้า
หนังด้านที่ฝ่าเท้า เกิดจากการกดทับที่มากกว่าปกติ และการเสียดสี หนังด้านบริเวณด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย มักเกิดจากการใส่รองเท้าหน้าแคบ ทำให้รองเท้าเบียดเสียดสีกับนิ้วเท้า ส่วนหนังด้านบริเวณฝ่าเท้า มักเกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้ฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมากกว่าส้นเท้า และมักพบร่วมกับการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า

4. ปวดล้าบริเวณนิ้วเท้า น่อง และหลัง
เกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้า กล้ามเนื้อน่อง และหลัง ต้องทำงานหนักขึ้น

ปัญหาที่เกิดจากการสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสมนั้น จะส่งผลกับเรามากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่การเลือกรองเท้า เพื่อการสวมใส่ให้เหมาะสม ทั้งรูปแบบและขนาดของรองเท้า และถ้าเท้าของเรามีปัญหาแล้ว ต้องเลือกรองเท้าที่มีรูปแบบพิเศษให้เหมาะสมกับเท้าของเราทั้งรองเท้าแบบธรรมดาและรองเท้าส้นสูง