10 ยาสามัญสำหรับนักท่องเที่ยว ข้อควรระวัง Medicine

เภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำถึงหลักง่ายๆ ของการเลือกพกยาติดตัวไปเที่ยว รวมทั้งการใช้ยาแต่ละชนิด ซึ่งมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

10 ยาสามัญสำหรับนักท่องเที่ยว หลักการเลือกพกยาติดตัวไปเที่ยว การใช้ยา และข้อควรระวัง Medicine

1.ยาโรคประจำตัว เป็นยาสำคัญอันดับแรกที่จะลืมไม่ได้ เพราะต้องกินต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ จึงต้องพกติดตัวและเตรียมให้มีจำนวนที่เพียงพอตลอดการท่องเที่ยว

2.พาราเซตามอล (Paracetamol) เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัวเมื่อไหร่ แต่การกินพาราเซตามอลมีข้อควรระวัง ไม่กินเกินขนาดที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปการกินแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อครั้ง ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรกินพาราเซตามอลครั้งละไม่เกิน 500 มิลลิกรัม และกินแต่ละครั้งต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การกินพาราเซตามอลเกินพอดี (150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายในครั้งเดียว หรือกินต่อเนื่องภายใน 1-2 วัน หรือ เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ภายใน 3 วัน ไม่เพียงไม่ช่วยให้ผลการรักษาที่มากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง ความดันลดลง หรือในบางรายที่กินเกินมากๆ อาจทำให้การทำงานของตับและไตเสียได้)


3.ยาแก้แพ้ สำหรับกรณีที่ร่างกายปรับตัวไม่ทันหรือไปสัมผัสบางสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการน้ำมูกไหล คันหรือผื่นขึ้นตามตัว โดยยาแก้แพ้มีทั้งชนิดกินแล้วง่วงนอนและกินแล้วไม่ง่วง จึงต้องเลือกดูให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

ที่สำคัญคือ ห้ามกินยาแก้แพ้ร่วมกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกลุ่มยาระงับประสาทโดยเด็ดขาด

4.ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กรณีการใช้ยารักษาอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ มีตัวเลือกเช่น ยาผงถ่าน คือถ่านกัมมันต์หรือถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal) ซึ่งมีข้อควรระวัง ต้องกินห่างจากยาชนิดอื่นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาชนิดอื่นลดลง หรือ ผงโออาร์เอส (ผงเกลือแร่ชดเชยปริมาณน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป)สำหรับรายที่อาการรุนแรง มีไข้ ติดเชื้อ อาจต้องรีบไปพบแพทย์

ขณะที่การใช้ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มักใช้ตามอาการ และต้องดูคำแนะนำที่ข้างซอง บางชนิดต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน

5.ยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ สำหรับขาลุย บ่อยครั้งที่การเดินตะลุยเที่ยวนำมาซึ่งการอ่อนล้าส่งผลให้เกิดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างไม่สะดุด สามารถยืนหยัดเที่ยวกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้ตลอดทริปในทุกเส้นทาง ยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยาคลายกล้ามเนื้อจึงเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการได้ดี

สำหรับยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีข้อควรระวัง คืออาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ฉะนั้นจึงต้องกินหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ ยกเว้นในคนไข้ที่มีข้อห้ามจำกัดการดื่มน้ำต่อวัน

6.ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน เป็นยาในกลุ่มเดียวกัน แล้วแต่การเลือกใช้ในแต่ละบุคคล ยากลุ่มนี้กินแล้วมักมีผลทำให้ง่วงนอน วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการมึนศีรษะ

โดยต้องกินก่อนเริ่มกิจกรรม/การเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท ควรพกถุงก็อบแก๊บติดตัวไว้สำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ไม่รบกวนคนข้างๆ ด้วยนะคะ

7.โลชั่นกันยุง จะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งหรือในร่ม ย่อมหมดสนุกถ้ามีแขกไม่ได้รับเชิญตัวน้อยคอยป่วนให้กวนใจ โลชั่นกันยุงและแมลงช่วยได้ ปัจจุบันนอกจากมีชนิดสเปรย์ โลชั่น ผ้าเปียก ยังมีชนิดที่เป็นแผ่นแปะหรือแบบสติกเกอร์ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส เปลือกส้ม ฯลฯ สามารถเลือกใช้ตามความชอบ ทั้งสะดวกและปลอดภัยอีกด้วย

8.ชุดยาทำแผลสด เช่น เบตาดีน น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ล้างแผล (หรือจะพกแค่เบตาดีนอย่างเดียวก็ได้ เพราะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย) และพลาสเตอร์ยาปิดแผลควรมีติดกระเป๋าไว้เป็นดีที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำลี ผ้าก็อตเพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

9.ยาแต้มสิว เมื่อต้องอยู่ในสถานที่แปลกที่แปลกถิ่น การต้องนอนดึกตื่นแต่เช้า ปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะ หรือแม้แต่น้ำที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายอาจทำให้ผิวระคายเคือง ส่งผลทำให้สิวขึ้นได้ ยาแต้มสิวจึงควรมีไว้เพื่อความมั่นใจในทุกครั้งที่เสียงชัตเตอร์ลั่น

10.เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ถือเป็นของสำคัญประจำตัวที่จะขาดไม่ได้เลยในยุคนี้ เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงและมีสำรองไว้ทุกครั้งที่ก้าวเท้าออกจากบ้าน