อะไรควรหรือไม่ควรทำ ในประเทศในแถบเอเชีย

ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกและความเห็นเท่าไหร่นัก แต่เราก็อาจเถียงว่า ก็ไม่ใช่ตลอดเวลา แต่ละชาติก็ไม่เหมือนกัน เมื่อเร็วๆ นี้เว็บไซต์บีบีซีรวบรวมข้อแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวตะวันตกว่า อะไรควรหรือไม่ควรทำในประเทศในแถบเอเชีย เรามาลองดูกันว่า เห็นด้วยหรือไม่


เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นอะไรที่คิดว่าไม่ดี ไม่สวย ต้องมีวิธีการพูดที่เป็นนักการทูตสักนิด หรือใช้คำพูดที่เป็นแง่บวกสักกหน่อย ผู้ที่มีประสบการณ์ในการติดต่อกับคนเอเชียแนะว่า การจะพูดว่า “คุณไม่รู้หรอกว่า คุณกำลังพูดถึงอะไรอยู่” หรือ “ผมเดินทางมาทั่วโลกแล้ว ผมรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด” เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดอย่างยิ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะกับคนเอเชียเท่านั้น การพูดให้อายเป็นสิ่งที่ไม่สมควร นอกจากนี้การพูดเสียงดังหรือชี้หน้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

การพูดเรื่องศาสนาก็เป็นการเสี่ยงมากเพราะอาจนำไปสู่การโต้เถียงได้ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาสนาเป็นเรื่องต้องห้ามเลยทีเดียว เช่น ในอินเดียซึ่งมีพระเจ้ามากมาย มาริยัม เรชี นักวิจารณ์ด้านอาหาร กล่าวว่า ในอินเดีย ความเห็นเรื่องศาสนามี 3 ระดับ แรง แรงมากกว่า และแรงที่สุด หลายประเทศในเอเชียเป็นประเทศมุสลิม มีหลักความเชื่อมากมายที่ตะวันตกอาจมองว่าเป็นเรื่องแปลก เช่น การเชื่อว่าสุนัขเป็นสัตว์สกปรก การไปแตะต้องถือว่าเป็นบาป เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้จัดงานซึ่งเปิดโอกาสให้คนมุสลิมในมาเลเซียได้สัมผัสสุนัขถึงกับโดนขู่ฆ่าเลยทีเดียว

นักท่องเที่ยวหลายคนอยากสร้างความคุ้นเคยกับคนท้องถิ่น ก็เลยหาหัวข้อมาพูดคุย นัยหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงว่า สนใจหาข้อมูลของประเทศนั้นๆ แต่ก็มีบางหัวข้อที่ไม่แนะนำเช่น ถ้าไปท่องเที่ยวที่จีน ประเทศมหาอำนาจของเอเชียก็ห้ามถามไถ่เรื่องทิเบต ไต้หวันและเทียนอันเหมิน ซึ่งจีนมีประวัติศาสตร์ที่โดนจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในแง่ลบ (ตอนนี้อาจต้องเติมฮ่องกงเข้าไปด้วย) หรือเมื่ออยู่ในเกาหลีใต้ ไม่แนะนำให้พูดถึงเกาหลีหนือ (ยกเว้นกล่าวตำหนิ) นอกจากนี้ ไม่ควรชื่นชมญี่ปุ่นในเกาหลี หรือยกย่องจีนในญี่ปุ่น ในฟิลิปปินส์ อย่าพูดตลกเรื่องอาหารของเขาหรือโป๊ป

ในความเห็นของ นิโคลาส ซู ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเจดับบลิว แมริออท ที่โซล เกาหลีใต้ การที่นักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันตกกล่าวกับคนเอเชียว่า “คุณพูดภาษาอังกฤษดีจังเลย คุณจบการศึกษาจากต่างประเทศหรือ” นั้นไม่ใช่การชมเชย แต่เป็นการดูถูกและใช้ตัวเองเป็นมาตรฐานในการตัดสินคนอื่น เช่นเดียวกันเมื่อโทรศัพท์ไปที่ใด คำถามแรกไม่ควรเป็น “คุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหม”

เว็บไซต์นี้แนะเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารด้วย ถ้านักเดินทางไปเที่ยวที่เมืองจีนและโชคดี มีคนจีนเลี้ยงข้าวและมีการดื่มอวยพร ก็ไม่ควรยกแก้วให้สูงกว่าเจ้าภาพและไม่ควรปฏิเสธถ้าเจ้าภาพจะชักชวนให้ชิมอะไรถึงแม้จะไม่ต้องการก็ตาม และควรจะกินอาหารให้หมดจาน นอกจากนี้ ไม่ควรเป็นคนที่หยิบอาหารชิ้นสุดท้ายจากจีนเพราะคุณจะเป็นที่ทำให้เจ้าภาพต้องสั่งอาหารเพิ่ม ในเกาหลีและญี่ปุ่น การเอาตะเกียบจิ้มข้าวแล้วตั้งทิ้งไว้เป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะดูเหมือนการปักธูปไว้บนอาหารสำหรับเซ่นคนตาย แต่การซดซุบเสียงดังเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง เจ้าภาพยิ้มแก้มไม่หุบแน่

หากนักท่องเที่ยวอยากจะตอบแทนเจ้าภาพด้วยการมอบของขวัญแทนการขอบคุณ ในประเทศจีน ไม่แนะนำให้มอบนาฬิกาหรือหนังสือเพราะในภาษาจีน เสียงของคำว่า “มอบนาฬิกา” คล้ายกับการกล่าวว่า “ไปร่วมพิธีศพ” และ “มอบหนังสือ” ก็จะคล้ายกับ “การหยิบยื่นความปราชัย”

สุดท้าย ถ้าไปเที่ยวที่ประเทศใด ควรลองชิมอาหารประจำชาตินั้นๆ หรือถ้าไม่ชอบอาหารประเทศนั้นก็ไม่ควรวิจารณ์อาหารให้คนท้องถิ่นฟัง นอกจากนี้ ก็ไม่ควรไปถามคนท้องถิ่นว่า แถวนั้นมีร้านอาหารไทยไหมเพราะอาหารไทยอร่อยที่สุดในบรรดาอาหารเอเชียด้วยกัน