วิธีการเตรียมตัว เตรียมชีวิต ก่อนคิดออกจากงาน

ความที่มีอาชีพเป็นนักจัดรายการ ที่พูดคุยให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายนี่เอง ทำให้หลายคนยกให้เธอเป็นศิราณี ที่ปรึกษาปัญหาเบื่องาน อยากออกจากงาน ซึ่งจากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เธอได้ค้นพบข้อคิด และข้อแนะนำมากมาย ซึ่งเธอได้รวบรวม มาเป็นแต่ละขั้นตอนของการให้คำแนะนำก่อนออกจากงานดังนี้

- Step1: ถามใจตัวเอง เบื่องานจริงมั้ย?

คุณหมีบอกว่าหากคิดจะออกจากงาน ให้ถามตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ว่าเรากำลังเบื่องานจริงหรือเปล่า หรือแค่เบื่อๆ อยากๆ ที่สำคัญ สาเหตุที่เราเบื่อนั้นเกิดจากใจของเราเอง หรือเกิดจากตัวงานกันแน่

“ทุกครั้งจะพยายามถามคนที่เบื่องานกลับไปว่า เบื่อจริงหรือเปล่า มันเบื่อๆ อยากๆ ไหม เพราะว่าที่ทำงานทุกที่ในโลกนี้มันก็น่าเบื่อหมดแหละ มันอยู่ที่ว่า เราจะจัดการความเบื่อของเราอย่างไร และที่สำคัญคือ เราชอบงานนั้นอยู่มั้ย มันเป็นงานที่เราจะสามารถทำมันได้อย่างมีความสุขหรือเปล่า เพราะมีหลายคนเลย ที่พอเจออะไรที่น่าเบื่อนิดๆ หน่อยๆ ก็ตีความเหมารวมว่างานนี้น่าเบื่อ โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่า จริงๆ ที่เบื่อ เบื่อเพราะอะไร เพราะใจตัวเอง หรือเบื่อเพราะงาน แล้วพอลาออกไป ไปสมัครที่ใหม่ก็เบื่อ แล้วก็ลาออกอีก

เคยมีคุณหมอท่านหนึ่งบอกว่า เวลาที่เราจะจัดการ จะตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้เราแยกระหว่างอารมณ์กับปัญหา สมมุติว่าเรามีปัญหาที่ทำงานที่นี่ ให้แบ่งปัญหาเป็น 2 ส่วนคือ ปัญหาที่เกิดจากความรู้สึกในใจเรา และปัญหาที่ตัวงานจริงๆ แล้วก็ลองแก้ที่ใจของเราก่อน ถ้าแก้ที่ใจของเราเรียบร้อยแล้ว ปัญหานั้นมันยังไม่จบ มันก็ยังคงอยู่ แสดงว่ามันเป็นปัญหาตรงนั้นจริงๆ แต่หลายครั้งที่พบว่า เพียงแค่เราปรับใจของเรา ปัญหามันก็อาจจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปแล้วก็ได้

ดังนั้นถ้าเจอปัญหาอะไร อยากให้มาแก้ที่ใจของเราก่อน ว่าตอนนั้นใจของเรามันเที่ยงตรง มองทุกสิ่งอย่างเป็นกลางเพียงพอแล้วหรือเปล่า เรากำลังโกรธ กำลังเกลียดอะไรไหม ถ้ากำลังโกรธกำลังเกลียดอะไร แนะนำว่า อย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจจะต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง ขอให้ตัดสินใจในขณะที่ใจของเรามันค่อนข้างเป็นกลาง ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เกลียด ไม่ได้เครียด ไม่ได้เศร้า การตัดสินใจในภาวะแบบนั้น มันมีประสิทธิภาพดีกว่ากันเยอะเลย”

Step2: รอเวลา ดูใจให้แน่


- แม้จะผ่านขั้นแรกมาได้ ตัดสินใจแล้วว่าต้องการลาออกจากงานชัวร์ แต่คุณรัศมีก็ยังแนะนำว่า การตัดสินใจออกจากงานถือเป็นใหญ่ ต้องคิดให้รอบคอบ และให้เวลาย้ำเตือนเราว่า การตัดสินใจของเราถูกต้องสำหรับเราแล้วจริงๆ

“หากคิดได้แล้วว่า เราเบื่อที่ตัวงานจริงๆ แก้ปัญหาที่ใจเราก็ไม่หาย อย่างไรก็ต้องออก แนะนำว่าให้รออีกสักพัก เอาให้แน่ใจว่าการตัดสินใจนั้นเกิดจากเหตุผลจริงๆ ถ้ารอสักสัก 2-3 เดือน แล้วอารมณ์มันยังไม่เปลี่ยน อยู่แล้วมีความทุกข์มากเลย แบบตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากทำงานเลย ทุกวันเป็นอย่างนี้มาหลายเดือนแล้ว ยิ่งอยู่ยิ่งสุขภาพจิตแย่ แก้ทุกสิ่งทุกอย่างก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น นั่นแหละค่ะ โอเค อาจจะพิจารณาออก”

Step3: เตรียมแผน-เตรียมเงิน ระหว่างว่างงาน


ขั้นตอนต่อไป ถ้าคิดว่าออกแน่แล้ว ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า

“ถ้าจะออกตอนนี้ คุณได้เตรียมแผนการในชีวิตไว้หรือยัง เงินเก็บที่มีอยู่ จะสามารถใช้ต่อได้กี่เดือน ถ้าเกิดว่า เรายังไม่สามารถหางานใหม่ได้ ภายใน 2-3 เดือน เงินที่เรามีอยู่ จะพออยู่ พอกินไปได้นานแค่ไหน ซึ่งตรงนี้มันต้องมีการเตรียมการที่ดีมาก ต้องบอกว่าให้คิดและวางแผนให้รอบคอบที่สุด อย่าออกเพราะความสะใจ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเสียใจ แล้วก็จะทุกข์ใจ”

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณรัศมีย้ำนักย้ำหนา ก็คือ เมื่อลาออกจากงานที่เดิมแล้ว ต้องเตรียมใจเอาไว้ว่าการไปทำงาน ณ ที่แห่งใหม่ อาจไม่ได้ดีไปกว่าที่เก่า หรือแย่พอกัน เข้าทำนองหนีเสือปะจรเข้ก็เป็นได้

“เมื่อคิดแน่ว่าจะลาออก ต้องเตรียมใจคุณไว้ว่า ไปทำงานที่ใหม่อาจจะไม่ได้ดีกว่านี้ หรืออาจแย่พอกัน เหมือนหนีเสือปะจระเข้ก็เป็นไปได้ เพราะงานทุกที่ มันมีทั้งดีและไม่ดีปนกันไป แต่มันอยู่ที่ว่าเราอยากจะได้อะไร เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร แล้วงานนี้มันตอบโจทย์เราได้ไหม ให้มองภาพใหญ่น่ะค่ะ ถ้าเรามองภาพใหญ่ว่างานนี้มันตอบโจทย์โดยรวมของเราได้ ปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็จะอดทนกับมันได้อย่างมีพลัง ไม่ต้องอดทนกับมันแบบทุกข์ทน”

 *กลเม็ดทำงาน ให้มีความสุข

เมื่อมาถึงสุดทาง หรือได้ตัดสินใจแล้ว ว่าจะอยู่ต่อหรือลาออกจากงาน แต่ใช่ว่าการตัดสินใจออกจากงาน หรือทำใจสู้ทนทำงานต่อไปได้ จะเป็นจุดสิ้นสุดเสียเมื่อไหร่ เพราะอย่างที่คุณรัศมีว่า การทำงานทุกที่ย่อมมีปัญหาแตกต่างกันไป นักจัดรายการสาวผู้นี้ จึงนำเคล็ดลับทำงานอย่างเป็นสุข มาบอกต่อ ให้คุณๆ นำไปปรับความคิด ปรับวิถีชีวิต เพื่อที่ไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ที่ใด ก็จะได้มีความสุขไงคะ...

Trick1: ออกกำลังกายสร้างสุข


- กูรูที่ปรึกษาปัญหาเบื่องานของเราเล่าว่า ความรู้นี้เกิดขึ้นหลังจากเธอหอบประเด็นความเครียดจากการทำงาน ไปปรึกษาคุณหมอท่านหนึ่ง ว่าควรปรับความคิดอย่างไร แต่คุณหมอท่านนั้น กลับแนะนำให้เธอไปออกกำลังกายและบอกกับเธอว่า เมื่อออกกำลังกายแล้ว หลายอย่างในชีวิตรวมถึงปัญหาความเครียดจะดีขึ้น

- “แต่ก่อนเคยมีปัญหาเรื่องเครียด ไม่มีความสุขกับชีวิตการทำงานเหมือนกัน แล้วด้วยความที่เราทำงานด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว ก็ไปปรึกษาคุณหมอ คุณหมอท่านแนะนำให้ไปออกกำลังกาย ตอนแรกเราก็ งง ว่าเอ๊ะ ทำไมแนะนำอย่างนี้ แต่พอลองไปทำดูจริงๆ แล้ว เออ! มันใช่ มันจริงอย่างที่คุณหมอบอก

- เพราะเราได้ค้นพบมาว่า จริงๆ แล้วการออกกำลังกาย มันไม่ได้มีผลดีต่อร่างกายของเราอย่างเดียว มันมีผลต่อใจของเรา มันมีผลต่อเรื่องของความสัมพันธ์ มีผลต่อเรื่องการทำงานด้วย เพราะเวลาร่างกายดี จิตใจของเราก็จะดีไปด้วย แล้วอย่างอื่นก็จะดีตามมา อย่างเช่น วันนี้เราหงุดหงิดมาก ปวดหัวคิดอะไรไม่ออก เราไม่รู้จะแก้ปัญหาที่มีอยู่อย่างไร ไปออกกำลังกายไปว่ายน้ำ สักชั่วโมง ไม่ต้องคิดเรื่องงาน ไม่ต้องไปคิดเลยว่าจะไปแก้ปัญหามันอย่างไร วางมันไว้
-
- พอออกกำลังกายเสร็จ โลกมันเปลี่ยนไปเลยนะคะ คือ พอเอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือสารที่ทำให้มีความสุขในร่างกายมันหลั่ง เราก็จะรู้สึกมีความสุขขึ้น ใจมันก็เปลี่ยน พอใจมันเปลี่ยน บางทีเรื่องที่มันมีปัญหาก่อนหน้านี้ มันไม่มีปัญหาแล้วนะ เราก็จะมองว่าเออ ไม่เห็นเป็นไรเลย ปัญหานี้เดี๋ยวก็แก้ไขไปได้ เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่า การออกกำลังกาย หรือการหาเวลาให้ตัวเองได้ไปพักผ่อนนอกจากเรื่องงาน มันเป็นส่วนสำคัญในการที่จะปรับสมดุล การทำงานของเราได้เป็นอย่างดี อยากให้ทุกคนลองดูค่ะ”

- หลายคนอาจเริ่มเถียงในใจว่า ก็ฉันงานเยอะนี่นา แล้วจะหาเวลาไปออกกำลังกายได้ยังไงเล่า? อันนี้คุณรัศมี เธอมีคำแนะนำมาแบบนี้ค่ะ

- “อารมณ์ทำงานเยอะ จนรู้สึกว่าไม่มีเวลาว่าง อารมณ์ขี้เกียจ เป็นเรื่องปกติของทุกคนค่ะ ช่วงแรกตัวเองก็เป็น แต่วิธีการแก้ก็คือ ต้องขัดใจตัวเองบ้าง ต้องบังคับตัวเองให้ได้ เพราะบางอย่างเรารู้ว่ามันคือสิ่งที่ดี แต่ใจของเรามันไม่อยากไป เราก็ต้องขัดใจมัน คือขัดใจตัวเองให้มากขึ้น คิดว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ หากเราบังคับจิตใจได้ เหตุผลข้ออ้างอื่นๆ มันก็จะหมดไป”

Trick2: ฝึกอยู่กับความเงียบ

- สำหรับเรื่องการอยู่แบบเงียบๆ นี้ กูรูรัศมีหมายถึง การสร้างสมาธิให้กับตัวเองค่ะ เพราะปัจจุบันสาวๆ ในเมืองใหญ่จำนวนมากอยู่แต่กับความวุ่นวาย เมื่อกลับบ้านก็เปิดทีวี แก้เหงา ซึ่งแท้จริงแล้ว การเปิดสิ่งบันเทิงเป็นเพื่อน คือ การทำให้เรายิ่งอยู่ไกลจากจิตใจของตัวเอง
-
- “หมีเป็นคนอยู่คนเดียว เมื่อก่อนพอกลับถึงบ้านก็จะเปิดทีวี แต่พอหลังๆ ลองไม่เปิดทีวี ก็รู้สึกว่าโลกมันสงบดีนะ เรานั่งอยู่คนเดียวเงียบๆ หากทำงานก็ได้งานเยอะขึ้น แล้วก็ได้ความสงบ มันเป็นอีกโลกหนึ่งที่เราอาจจะลืมมันไปว่า จริงๆ แล้วมันก็มีโลกนี้อยู่นะ โลกที่เงียบสงบ ที่ทำให้เรามีสติมากขึ้น แล้วมันผ่อนคลาย เราอาจจะเลือกเปิดเพลงเบาๆ คลอไป แล้วพอเราผ่อนคลาย หายเครียด มันก็เหมือนเชาร์ตแบตไปในตัว ดีกว่าดูแต่ทีวี แล้วก็ไม่ได้ผ่อนคลายอะไร
-
- อันนี้คือ ปัญหาของคนเมืองนะ เพราะเราจะเจอแต่สิ่งเร้า อยากได้โน่นได้นี่อยู่ตลอดเวลา แต่การอยู่กับตัวเองมันจะทำให้เราสงบขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น แล้วพอเราเข้าใจตัวเองเราก็จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

Trick3 : ใช้ธรรมะ ปรับใจให้แข็งแรง

- การใช้ธรรมะปรับใจให้แข็งแรงขึ้นนี้ ได้มาจากประสบการณ์ตรงของคุณรัศมีเธอเองค่ะ ซึ่งเธอออกตัวไว้ก่อนว่า เรื่องของธรรมะนี้สำหรับบางคนมันอาจเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ดังนั้นเธอจึงแนะนำหลายๆ คนว่า ให้หาเวลาไปฝึกปฏิบัติธรรมแล้วจะเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น
-
- “อันนี้มาจากประสบการณ์ตัวเอง ที่ก่อนหน้านี้เคยไปช่วยงานที่เสถียรธรรมสถาน แล้วท่านแม่ชีศันสนีย์มักจะบอกบ่อยๆ ว่าทุกข์มีไว้ให้เห็น ทุกข์ไม่ได้มีเอาไว้ให้เป็น ตอนนั้นเราคิดว่าเราเข้าใจนะ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่เคยเข้าใจมันเลย จนกระทั่งเราได้ไปปฏิบัติจริงๆ ถึงจะรู้ว่า
-
- ความทุกข์หรือไม่ทุกข์นั้น มันอยู่ที่ใจเราเอง คือ ถ้าเรารู้เท่าทันใจของตัวเอง เราก็จะรู้ว่าเราจะอยู่กับใจของตัวเองอย่างไร แล้วเราจะจัดการมันอย่างไรที่จะไม่ทำให้มันทุกข์ ที่จะให้เราไม่ต้องเป็นทาสของอารมณ์ ถ้าเราเข้าใจ จิตใจของตัวเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย แล้วปัญหาของคนทุกวันนี้ ตัวหมีเองรู้สึกว่ามันมาจากการที่เราไม่เข้าใจอารมณ์ตัวเอง และก็ไม่เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
-
- พอมันไม่เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง มันเหมือนไม่เคยออกกำลังใจ ไม่เคยชะล้าง ไม่เคยขัดเกลา ก็จะเป็นปัญหาของคนอื่นได้ด้วย อันนี้เป็นการออกกำลังใจในความหมายของหมี ซึ่งในฐานะที่เราอยู่ในประเทศที่มีสถานที่ปฏิบัติธรรมเยอะ มีครูบาอาจารย์ที่สอนเรื่องนี้เราได้มากมาย ถ้ามีเวลา อยากจะแนะนำว่า ไปออกกำลังใจ ไปอยู่เงียบๆ ไปดูให้เห็นใจของตัวเอง ว่าใจของตัวเองมันมีธรรมชาติอย่างไร อะไรที่มหัศจรรย์หลายอย่าง จะเกิดขึ้นจริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อ”

- ส่วนเรื่องการนำธรรมะไปปรับใช้กับการทำงานนั้น เธอยืนยันว่าได้ผลดีทีเดียวค่ะ

- “แต่ก่อนตัวเองจะเป็นคนที่ขี้หมั่นไส้มาก ประมาณว่าถ้าอารมณ์ไม่ดีอยู่ แค่รถคันที่ขับผ่านหน้ามีสีสันไม่สวย ไม่ถูกใจ เราก็หงุดหงิดแล้ว แต่พอเราปฏิบัติธรรมแล้ว มันจะช่วยลดอคติ ตรงนี้ไปได้เยอะ อย่างเช่นเวลาทำงานประชุมกัน ถ้าคนที่เราไม่ชอบเสนอความคิดเห็น ถ้าเป็นแต่ก่อน คนนั้นยังไม่ทันอ้าปากเลย เราเตรียมค้านไว้แล้ว เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวพูดเมื่อไหร่ ฉันจะค้านให้น่าดู แต่พอตอนนี้เราก็โอเค ไม่ชอบก็ไม่ชอบ แต่จะฟังในสิ่งที่เค้าพูด แล้วก็ว่ากันไปตามความจริง อะไรที่มันดีก็ว่ามันไปตามดี อะไรที่ไม่ดีก็ว่าไปตามที่ไม่ดี ว่ากันไปตามเหตุตามผล ไม่ใช่ตามอารมณ์”

- แม้จะปฏิบัติธรรมมาพอสมควร แต่เธอยอมรับว่าเคยมีผิดพลาด เพราะควบคุมใจอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน จนทำเพื่อนร่วมงานเสียใจถึงขั้นลาออกจากงานเพราะเธอมาแล้ว

- “เคยโมโหน้องที่ทำงานด้วยกัน คือ เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ข้ามหน้าข้ามตา พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอยู่วันหนึ่งเขาโทรศัพท์มาหา หลังเขาถือวิสาสะเปลี่ยนงานที่เราทำไว้ ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่ดีขึ้น เราต้องมานั่งรับผิดชอบทำใหม่ให้อีก พอเขาโทรมาปุ๊บ เราก็ด่าเขาแบบไม่หยุดไป 20 นาที ไม่ปล่อยโอกาสให้น้องเขาแก้ตัว หรือแม้แต่จะเอ่ยปากพูด ก็ด่าไปจนแบตเตอรี่มือถือหมด เราก็อ้าวแบตฯ หมดแล้วเหรอ ยังด่าไม่หมดเลย เค้าก็วางไป

- ปรากฏว่า รุ่งขึ้นน้องคนนั้นลาหยุดไปประมาณ 2 วัน ไม่มาทำงาน ตัดผม เหมือนคนอกหักเลย แล้วก็ยื่นใบลาออกเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็เสียใจมาก สุดท้ายแล้วเรากับหัวหน้าน้องเขาก็พยายามเกลี้ยกล่อมอยู่พอสมควร กับการที่น้องคนนั้น ยังคงทำงานอยู่ต่อไป ซึ่งเราก็มานั่งทบทวนตัวเองว่า เราไม่ทันอารมณ์ตัวเองจริงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นบทเรียนของตัวเอง ที่อยากเตือนคนอื่นว่า เราต้องรู้ทันใจตัวเอง ไม่อย่างนั้นเราก็จะเผลอไปทำร้ายคนอื่นได้ง่าย”

เคล็ดลับการทำงานร่วมกับ “คนโมโหร้าย”

เมื่อขึ้นชื่อว่า เคยเป็นหนึ่งในคนขี้หงุดหงิด และโมโหร้าย (เป็นบางครั้ง) มาก่อนคุณหมีเลยมีคำแนะนำว่า ทำอย่างไรเมื่อเจอคนใจร้ายในที่ทำงานมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

“จากประสบการณ์ คนที่น่ากลัวที่สุดมักเป็นคนที่น่าสงสารที่สุด คนที่ใช้อารมณ์กับคนอื่น คนที่ชอบระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น ถ้าลองหาข้อมูลชีวิตเขาดีๆ ร้อยละ 90 มักจะเป็นคนที่น่าเห็นใจ มักจะไม่มีความสุขในชีวิต ถ้าเรามองแบบนี้ เราจะเห็นใจ แล้วพอเราเห็นใจเขา เขามาร้ายอะไรกับเรา เราจะไม่โกรธเขานะ แล้วบางทีการเมตตาต่อกัน มันเป็นพลังที่ส่งถึงกันได้

อย่างตัวเองแต่ก่อนเป็นคนขี้โมโห แต่จะกลัวคนมาทำดีด้วย เพราะถ้าเกิดว่าเราร้ายกับใครสักคน แล้วเขามาว่ากลับ เราก็จะรู้แล้วว่าเราจะทำอย่างไรต่อ ขั้นต่อไปจะทำอย่างไร แต่ถ้าเราไปร้ายเขา แล้วเขามาดีกับเรา เหมือนไม่รับมุก เรานี่ตายเลยนะ หลายคนเป็นโรคแพ้ความดี เพราะฉะนั้น ดีไว้ก่อน

อีกอย่างคือ ใช้คำชมค่ะ แต่ต้องชมออกมาจากความจริงใจนะ เช่นวันนี้แต่งหน้าสวยจังเลย แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้ว อันนี้มันก็จะมีประโยชน์คือ ถ้าเราได้ชมคน ตัวเราเองจะมีความสุขก่อน แล้วความสุขนั้นมันก็จะส่งต่อไปให้กับคนอื่นๆ ดังนั้นชมกันให้มากๆ โดยเฉพาะคนในครอบครัว แล้วก็หัวหน้างาน ที่เขาชอบด่าเราตลอด ลองชมเขาดูสิคะ หรือบางครั้งพอเขาด่าเรา ให้บอกว่าจริงด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะที่เตือน จริงๆ แล้วเป็นความสะเพร่าของดิฉันเอง แล้วต่อไปเราจะพยายามทำให้ดีขึ้น ลองชมเขาดู แล้วบางทีอะไรมันอาจจะเปลี่ยนไปได้ค่ะ” คุณรัศมีแนะนำทิ้งท้าย