เครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่างๆ ใช้ยังไง ใช้ตอนไหน?

เครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่างๆ ใช้ยังไง ใช้ตอนไหน? เช่น เครื่องหมายคำถาม ?! ฯลฯ

ปรัศนี (Question mark)

? มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้


1. ใช้เมื่อสิ้นสุดความหรือประโยคที่เป็นคำถาม หรือใช้แทนคำถาม ตัวอย่างการใช้..

– คุณจะไปเที่ยวเกาหลีใต้เมื่อไหร่?
– ทำไมคุณจึงเลิกแต่งหนังสือ ?

2. ใช้หลังข้อความเพื่อแสดงความสงสัยหรือไม่แน่ใจ มักเขียนอยู่ในวงเล็บ ตัวอย่างการใช้..

– กฤษฎาธาร [กฺริดสะดาทาน] น. พระที่นั่งที่ทำขึ้นสำหรับเกียรติยศ (?) เช่น พระมหาพิชัยราชรถกฤษฎาธาร. (เรื่องพระบรมศพ).

– ในหนังสือราชาธิราชว่า พระเจ้าฟ้ารั่วทิวงคตเมื่อปีฉลู จุลศักราช ๖๗๕ พ.ศ. 1856 มกะตาเป็นอนุชาได้ราชสมบัติ ให้เข้ามาทูลขอให้สมเด็จพระร่วงตั้งพระนามอย่างครั้งพระเจ้าฟ้ารั่ว ได้รับพระนามว่า พระเจ้ารามประเดิด (ประดิษฐ์?)

เครื่องหมายตกใจ หรือ อัศเจรีย์ !

เราเรียกเครื่องหมายนี้กันติดปากว่า เครื่องหมายตกใจ ชื่อเต็มๆ คือ อัศเจรีย์

อัศเจรีย์ เป็นเครื่องหมายวรรคตอน หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า exclamation point และ exclamation mark ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือ ประโยคที่เป็นคำอุทาน หรือใช้เขียนไว้หลังคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงได้เหมาะกับเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ๆ เช่น อุ้ย! มีเงาอะไรผ่านหน้าไป , OMG!!

เครื่องหมาย วงเล็บ ( ) หรือ นขลิขิต

– ใช้กับข้อความที่อธิบายไว้เพื่อช่วยให้ชัดเจนขึ้น เช่น ตาของเธอสวยเหมือนตาเนื้อทราย (เนื้อทรายเป็นชื่อสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีนัยน์ตาสวยมาก)

– ใช้กับข้อมูลบางอย่างเพื่อเตือนความจำ เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ปัจจุบัน)

– ใช้คร่อมนามเต็มที่เขียนไว้ใต้ลายเซ็น

– ใช้คร่อมตัวเลขหรือตัวอักษรที่เป็นหัวข้อบอกเชิงอรรถ

– ใช้ในวิชาคณิตศาสตร์ หรือเขียนสูตรเคมีเพื่อกั้นกลุ่มตัวเลขหรือสัญลักษณ์

ไข่ปลา หรือ จุดไข่ปลา (…)

– ใช้ละข้อความข้างท้ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่ต้องการกล่าวถึง เพื่อแสดงว่าตัดตอนข้อความนั้นมาเพียงบางส่วน โดยต้องใส่จุดอย่างน้อย 3 จุด

– ใช้เพื่อแสดงว่ามีข้อความ แต่ข้อความนั้นลบเลือนหรือขาดหายไป และยังไม่สามารถหาหลักฐานมาประกอบหรือยืนยันได้ เช่น ข้อความในศิลาจารึก เป็นต้น

– สำหรับในบทร้อยกรอง ถ้าจะละข้อความตั้งแต่ 1 บรรทัดขึ้นไป ให้ใช้จุดไข่ปลายาวตลอดบรรทัด แต่ถ้าจะเน้นฉันทลักษณ์ก็สามารถใส่จุดไข่ปลาตามรูปแบบฉันทลักษณ์ได้

สมัยนี้เราก็มักจะใช้คำว่า “บลา บลา บลา” กันไป

เครื่องหมายคอมม่า ,

จุลภาค หรือ ลูกน้ำ ( , ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนตัวอ่อนของยุง ( , ) มีการใช้ดังนี้

– ใช้แบ่งลำดับรายการ เช่น ส่วนผสมในการทำขนมปังมี แป้งสาลี, ไข่ไก่, เนย, ยีสต์, น้ำตาล ฯลฯ

– ใช้เป็นตัวคั่นทุกพันในเลขอารบิกหรือเลขไทย เช่น 1,234 และ ๓,๐๐๐,๐๐๐

– โดยทั่วไป จุลภาค เป็นเครื่องหมายในพจนานุกรมด้วย ใช้คั่นบทนิยามที่มีความหมายคล้ายๆ กัน หรือทำนองเดียวกัน

เครื่องหมาย ไม้ยมก ๆ

โดยปกติเครื่องหมายนี้ เราจะ เว้นวรรคหนึ่งหน้าหนึ่งหลัง แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานบนอินเตอร์เน็ตแล้ว แนะนำว่า ควรเว้นหนึ่งหลังเท่านั้น เพราะข้อจำกัดของหน้าเว็บ หากเราเว้นวรรคหนึ่งหน้าหนึ่งหลังแล้ว เวลาที่ข้อความปัดบรรทัด เจ้าไม้ยมกนนี้จะตกหล่นทำให้เรามองไม่เห็นเลยก็ได้ อย่าไปอยู่อีกบรรทัดหนึ่ง แต่หากว่าพิมพ์ติดตัวอักษรข้างหน้าแล้ว เวลาคำข้างหน้าไปไหน ไม้ยมกก็จะตามไปด้วยเสมอ

ทุก ๆ ครั้งที่เธอมองสบตาฉัน (ควรใช้)
ทุกๆ ครั้งที่เธอมองสบตาฉัน (ควรใช้ในงานเขียนออนไลน์ เพราะจะเกี่ยวกับการเว้นวรรค จัดหน้าตัวอักษร)
ทุกๆครั้งที่เธอมองสบตาฉัน (แบบนี้ไม่ควรทำค่ะ พิมพ์ติดตัวหน้าตัวหลังไม่ค่อยสวยงาม)