ในอดีต วันตรุษจีนจะไม่ตรงกันในแต่ละแคว้น แต่ละยุคสมัย เนื่องจากปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคของจีน กำหนดวันตรุษจีนแตกต่างกัน บางยุคใช้แบบสุริยคติ บางยุคใช้แบบจันทรคติ จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนไม่ตรงกันเลย
วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน
สำหรับวันตรุษจีนประจำปี 2565 นั้น ตรงกับวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน หรือ “วันเที่ยว” ยังมีอีก 2 วันสำคัญของเทศกาลตรุษจีน คือ “วันจ่าย” และ “วันไหว้”
วันจ่าย ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565
วันไหว้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565
วันเที่ยว ตรงกับวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
อย่างไรก็ตาม ปีนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดยาวเหมือนในปี 2564 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ
สมัยจีนยุคโบราณจะให้ความสำคัญกับ “วันลี่ชุน” ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ 1 เดือน 1 โดยในวันดังกล่าวจะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก “เทพเจ้าการเกษตร”
ส่วนจุดเริ่มต้นที่กำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ของทุกปี ตามปฏิทินจีน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีนและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ กำเนิดขึ้นในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น ราวปี พ.ศ. 439 (ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 104 ปี) ถือเป็นจุดกำเนิดของวันตรุษจีนที่ชาวจีนในไทยยึดถือจนถึงปัจจุบัน
ตามปฏิทินจีน “วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะอยู่ช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคม ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไป (เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนมี 29 วัน บางเดือนมี 30 วัน แตกต่างกับปฏิทินสากล) ตามข้อมูลจากมติชนอคาเดมี
กิจกรรมวันจ่าย-วันไหว้
วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้า ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน
วันไหว้ ตอนเช้ามืด จะไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสาย จะไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
เปิดความหมาย อาหารคาว-ขนม-ผลไม้ เสริมมงคล
สำหรับการไหว้ขอพร หากจะไหว้เต็มรูปแบบต้องไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ทำทานดวงวิญญาณไร้ญาติ และไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ส่วนผู้ที่ต้องการไหว้ขอโชคลาภเพิ่มเติม ของไหว้จะประกอบด้วย กลุ่มของคาว กลุ่มขนมหรือของหวาน และผลไม้
โดยจำนวนจะยึดของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลัก ได้แก่
ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ
กลุ่มอาหารคาว
- ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความสง่างาม ยศ ตำแหน่ง ความขยัน
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
- เป็ด หมายถึง สิ่งที่บริสุทธิ์ ความสะอาด และความสามารถอันหลากหลาย
- ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้
- เป๋าฮื้อ หมายถึง มีความเชื่อว่าเป็นอาหารสิริมงคล เพราะมีความหมายช่วยห่อความมั่งคั่งให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมกินในโอกาสสำคัญ
- ปู หมายถึง การสอบได้ตำแหน่งที่ดี
- กุ้งมังกร,กุ้ง หมายถึง ความมีอำนาจวาสนา ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข
- สาหร่ายดำ หมายถึง ความร่ำรวย
- ตับ หมายถึง อำนาจวาสนา
- บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หมายถึง การมีอายุยืนยาว
กลุ่มขนม
- ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ความราบรื่นในชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
- ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
- ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต
- ขนมถ้วยฟู หมายถึง เพิ่มความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา, หมั่นโถว หมายถึง ไหว้เพื่อให้เปาไช้ ห่อโชค ห่อลาภ
- จันอับ หมายถึง เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
- เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
- ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
- โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
- ขนมต้ม หมายถึง บรรพชนอวยพร
กลุ่มผลไม้
- กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภ มีลูกหลาน มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
- ส้มสีทอง หมายถึง มหาสิริมงคล โชคดี ประสบแต่สิ่งดี ๆ
- องุ่นสีแดง หมายถึง ความเพิ่มพูน ความเจริญงอกงาม และการมีอายุยืนนาน
- แอปเปิลสีแดง หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
- สาลี่ หมายถึง รักษาคุณงามความดี รักษาโชคลาภเงินทองไม่ให้เสื่อมหาย
- ส้มโอ หมายถึง ความสมบูรณ์
- เมล่อน หมายถึง การเจริญเติบโต
วิธีไหว้ตรุษจีน
แบ่งเป็น 3 ช่วง
เช้ามืด คือ การไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยเครื่องไหว้ที่เป็นเนื้อสัตว์ 3 อย่าง คือ หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เป็ดต้ม พร้อมทั้งเหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน-กระดาษทอง โดยจะกระทำในช่วง 7-8 โมงเช้า
สาย คือ การไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยซาแซ อาหารคาว-หวาน รวมถึงเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง พร้อมเสื้อผ้าให้กับบรรพบุรุษ กระทำไม่เกินเที่ยงวัน นอกจากนี้หลังจากที่ทุกคนในครอบครัวร่วมรับประทานอาหารไหว้บรรพบุรุษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปากันอีกด้วย
บ่าย คือ การไหว้ผีไม่มีญาติ ด้วยข้าว กับข้าว ขนม เช่น ขนมเข่งกับขนมเทียน และกระดาษเงิน-กระดาษทอง รวมถึงมีการจุดประทัดเพื่อปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายด้วย (ประมาณบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น)
9 ข้อห้ามสำคัญในวันตรุษจีน
- ห้ามทำความสะอาดบ้าน คนจีนจะถือว่าการทำความสะอาดบ้านในวันนี้จะเป็นการเอาโชคลาภออกไปจากบ้าน
- ห้ามสระผมหรือตัดผม การตัดผม หรือสระผม เหมือนเป็นการนำความมั่นคงออกไป ทางที่ดีสระก่อนวันสองวัน
- ห้ามพูดคำหยาบ การพูดสิ่งไม่ดี คำหยาบ พูดโกหก ในวันตรุษจีนนี้หมายถึงจะนำความเดือดร้อนมาสู่คุณ
- ห้ามร้องไห้ กุศโลบายจะทำให้ร้องไห้ทั้งปี และเจอเรื่องเสียใจไปตลอด
- ห้ามเข้าห้องนอนคนอื่น ความเชื่อนี้ระบุชัดว่าจะทำให้โชคร้าย
- ห้ามทำของแตก หมายถึง ลางร้ายกำลังมาเยือน ครอบครัวจะแตกแยก
- ห้ามใช้ของมีคมเพราะจะทำให้เหมือนกับตัดความโชคดีออกไป
- ห้ามให้ยืมเงินว่ากันว่าจะต้องให้ยืมไปตลอด และสำหรับคนเป็นหนี้หรือไปยืม ก็ว่าจะติดหนี้สินไปตลอดเช่นกัน
- ห้ามใส่ชุดขาว-ดำ คนจีนมีความเชื่อเรื่องการใส่เสื้อขาว-ดำในวันตรุษจีนจะเป็นเหมือนลางร้าย
- ซินเหนียนไคว่เล่อ : สวัสดีปีใหม่ / สุขสันต์วันปีใหม่
- ชุนเจี๋ยไคว่เล่อ : สุขสันต์วันตรุษจีน
- ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฟาไฉ : คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนา มีแต่ความสุขและร่ำรวยตลอดปี
- บ่วงสื่อหยู่อี่ : ขอให้สมหวังในทุก ๆ สิ่ง
- จู้หนี่ซุ่นลี่ : ขอให้ประสบความสำเร็จ
- ซื่อจี้ผิงอัน : ขอให้ปลอดภัยตลอดปี
- เจียห่าวยวิ่นชี่ : ขอให้มีความโชคดีเข้าบ้าน
- จูสื่อกิ๊กเซี้ยง : ขอให้มีความสิริมงคลในทุกเรื่อง
- เหม่ยเมิ่งเฉิงเจิน : ขอให้สิ่งที่ฝันเป็นจริง
- ซิ่งฝูหรูอี้ : ขอให้มีความสุขสมปรารถนา
- เหอเจียฮวานเล่อ : ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งครอบครัว
- จู้หนินปู้ปู้เกาเซิง : ขอให้ท่านเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
- ซื่อซื่อซุ่นลี่ : ราบรื่นในทุก ๆ เรื่อง
- เหนียนเหนียนเกาเซิง : ขอให้เจริญขึ้นทุก ๆ ปี
- ซินเซี่ยงซื่อเฉิง : ขอให้สมปรารถนาในทุก ๆ เรื่อง
- ซิ่งฝูอันคัง : ขอให้มีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง
- ซุ่ยซุ่ยผิงอัน : ขอให้สงบสุขและปลอดภัย
- ซิงที่เกี่ยงคัง : ขอให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- จู้หนี่ฉางโส่ว : ขอให้คุณอายุยืนยาว
- หลงหม่าจินเสิน : สุขภาพแข็งแรง
- ฝูโซ่วว่านว่านเหนียน : อายุยืนยาวหมื่น ๆ ปี
- ซินเหนียนไคว่เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง : ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่ สุขภาพแข็งแรงตลอดปี
- ซื่อเย่ฟาจ่าน : ขอให้กิจการพัฒนาก้าวหน้า
- เซิงอี้ซิงหลง : ขอให้กิจการรุ่งเรือง
- กงซีฟาไฉ : ขอให้ร่ำรวย
- ต้าจี๋ต้าลี่ : ค้าขายได้กำไร
- ไป่เย่ซิงว่าง : ขอให้การงานเจริญก้าวหน้า
- กงจั้วซุ่นลี่ : ขอให้หน้าที่การงานราบรื่น
- จินอวี้หม่านถัง : ร่ำรวยเงินทอง
- เยวี่ยเยวี่ยจั่งกงจือ: ขอให้เงินเดือนขึ้น
- ไฉหยวนกว่างจิ้น : ขอให้เงินทองไหลมาเทมา