คิดก่อนแชร์

ผลสำรวจที่จัดทำโดยคณะนิเทศ ศาสตร์ของม.กรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ช่องทางรับรู้ข่าวสารยอดนิยมของวัยรุ่นไทยคือ เฟซบุ๊ก

แทนที่จะอ่านหนังสือพิมพ์เป็นฉบับๆ หรือดูทีวี คนกลุ่มนี้เลือกคลิกอ่านข่าวที่เพื่อนหรือคนรู้จักในเฟซบุ๊กได้แชร์ไว้

ตอกย้ำว่า สื่อออนไลน์มีอิทธิพลและเข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สื่อแบบเก่ามีบทบาทน้อยลงทุกที โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์

ทั้งเป็นสัญญาณเตือนว่ากลุ่มประชากรรุ่นใหม่กำลังแทนที่ประชากรรุ่นเก่าที่กำลังเป็นฐานสำคัญของหนังสือพิมพ์มาตลอด

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจนี้ก็ควรทำให้สาธารณชนได้ตระหนักด้วยว่า การเลือกรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะจากคนใกล้ตัว เช่น การดูจากที่คนอื่นแชร์ในเฟซบุ๊ก อาจทำให้เราถูกชักนำหรือเสพแต่ข่าวสารที่กลุ่มของเราเห็นด้วย

จนขาดการพิจารณาข่าวสารในมุมที่แตกต่างออกไป

นอกจากนี้ เราต้องระลึกไว้ด้วยว่า ข่าวหรือข้อมูลที่เผยแพร่อย่างฉับไวในอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น มิได้น่าเชื่อถือเสมอไป

มีหลายกรณีที่ข่าวเท็จหรือข้อมูลปลอมแพร่กระจายไปกันใหญ่ เพียงเพราะพฤติกรรม "สักแต่แชร์ สักแต่ไลก์" ของผู้อ่านที่ไม่ได้พิจารณาหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดก่อน

เพียงแค่เห็นว่าเป็นข่าวที่เอื้อต่อแนว คิดของตน ก็รีบส่งต่อกันทันที จนเกิดผลร้ายตามมา

เห็นได้จากกรณี "ข้าวพิษ" หรือ "ข้าวเน่า" เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้หลายคนฉวยไปเป็นเครื่องโจมตีรัฐบาล ก่อนที่ต้นตอข่าวดังกล่าวต้องออกมาขอโทษ

ในขณะที่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลกำลังเปลี่ยนแปลงไป วิจารณญาณของผู้เสพข้อมูลก็ควรพัฒนาตามยุคสมัยเช่นกัน