สาหร่าย ภาษาอังกฤษเรียกว่า algae อัลเจ บ้างก็เรียก seaweed ซีหวีด แต่ seaweed เป็นภาษาพูด หมายถึงสาหร่ายที่อยู่ก้นท้องทะเล บางทีก็ พูดรวมๆ ถึงสาหร่ายสีแดง น้ำตาล และเขียว และบางทีใช้พูดถึงสาหร่ายที่ใช้กิน ทำยา ทำปุ๋ย แต่โดยรวมแล้วซีหวีดกับอัลเจต่างไม่ใช่พืช แม้มีลักษณะคล้ายพืช
สาหร่ายไม่มีส่วนที่เป็นราก ลำต้น และใบที่แท้จริง มีขนาดตั้งแต่เล็กมากมีเซลล์เดียว ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก อาจเป็นเส้นสายหรือมีลักษณะคล้ายพืชชั้นสูงก็มี
การแบ่งพวกสาหร่ายแบ่งตามรูปร่างลักษณะภายนอกหรือดูตามสี จึงมีสาหร่ายสีเขียว เขียวแกมน้ำเงิน น้ำตาล และสีแดง สาหร่ายสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศก็มี อาศัยเพศก็มี
แหล่งที่อยู่ของสาหร่ายมีต่างๆ กัน ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม คุณค่าทางอาหารของสาหร่ายพบว่าไม่สูงมากนัก คาร์โบ ไฮเดรตที่มีอยู่เป็นพวกที่ย่อยยากในตัวคน โปรตีนก็มีน้อย แต่สิ่งที่ได้จากสาหร่าย คือ แร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด นอกจากเป็นอาหารคน เช่น สาหร่ายอบกรอบ
ข้อมูลจากนิตยสารสุขกายสบายใจ สาหร่ายทะเลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงสุดมีด้วยกัน 4 ชนิด เรียกตามภาษาญี่ปุ่น ตามที่สาหร่ายเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืน
1.โนริ (Nori) มีโปรตีนสูงที่สุด และมีกรดอะมิโนจำเป็น 3 ชนิด คือ อะลานีน ให้พลังงานกับเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง กลูตามิก แอซิด หรืออาหารสมองตามธรรมชาติ ช่วยเร่งเติมเต็มเยื่อบุผิวหนัง ช่วยควบคุมความอยากน้ำตาล และไกลซีน ช่วยกระตุ้นการปล่อยออกซิเจนที่จำเป็นต่อกระบวนการสร้างเซลล์และเป็นกรดจำเป็นในการสร้างฮอร์โมนที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
2.วากาเมะ (Wakame) มีแคลเซียมสูง เนื่องจากรสชาติอร่อยจึงนิยมนำไปลวกหรือใส่ในซุป บะหมี่ หรือสุกี้ จากผลการวิจัยล่าสุดพบว่ามีสรรพคุณต้านโรคอ้วน เนื่องจากอุดมด้วยกรดไขมันไอโคซาเพนทาอิโนอิก (Eicosapentaenoic Acid) หรือ EPA ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็น ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด ทำให้สัดส่วนลดลง เหมาะสำหรับบริโภคเพื่อควบคุมน้ำหนัก
3.คอมบุ (Kombu) มีวิตามินเอและซีสูง นิยมใช้รักษาโรคแบบโภชนบำบัด เพราะมีสารลิกแนน (Lignans) ช่วยป้องกันอาการลุกลามของเชื้อมะเร็งได้เพราะมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส บริโภคได้ทั้งดิบและปรุงสุก นิยมปรุงในน้ำซุป น้ำแกง หรือนำไปเป็นส่วนผสมซีอิ๊ว
4.ดูลส์ (Dulse) มีวิตามินบี 6 และบี 12 สูง บริโภคได้แบบดิบและปรุงสุก เนื่องจากมีรสเผ็ดจัด เค็ม และมีกลิ่นค่อนข้างฉุน ชาวญี่ปุ่นนิยมนำไปทำเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย นำไปเป็นผักตกแต่ง หรือนำไปปรุงรสในซุป สาหร่ายประเภทนี้ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทหรือในตู้กับข้าว มิเช่นนั้นจะมีกลิ่นเค็มเล็ดลอดออกมา
นอกจากเป็นอาหารสำหรับคนแล้ว สาหร่ายยังใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นปุ๋ยและเป็นยา สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Bluegreen Algae) จับไนโตรเจนในอากาศได้อย่างอิสระ (Nonsymbiotic Nitrogen Fixer) Anabaena, Oscillatoria, nostoc
สำหรับอันตรายของสาหร่ายก็มีเหมือนกัน กรณีที่สาหร่ายเน่าจะเป็นแหล่งของไฮโดรเจน ซัลไฟด์ ก๊าซที่มีพิษสูง บางทีจึงถูกใช้เป็นยาพิษ ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วง