เช็กก่อนแชร์!! / ตรวจสอบภาพว่ามาจากที่ไหน เมื่อใหร่

ฉบับนี้ "หมุนก่อนโลก" มีเรื่องราวดีๆ จากเว็บ "appdisqus.com" มาฝาก โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบ "รูปภาพ" ที่โพสต์กันตามเว็บสังคมออนไลน์ ที่ปรากฏว่า ทุกวันนี้ขาดความน่าเชื่อถือสุดๆ

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง พบว่ามีการนำภาพเก่า หรือภาพที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันมา "ย้อมแมว" หลอกต้มชาวเน็ต และนำไปสู่ความรุนแรง-ขัดแย้ง ในชุมชนไซเบอร์สเปซ

ในความเป็นจริง การตรวจสอบรูปภาพเหล่านั้นมีวิธีการที่ง่ายดายมากๆ โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. เมื่อเราได้รับข่าวสารที่น่าสงสัยว่าเป็นความจริงหรือไม่ ให้เราดาวน์ โหลดรูป ภาพนั้น เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา

2. เข้าไปที่ images.google.com ซึ่งเป็นเมนูค้นหารูปภาพของกูเกิ้ล จากนั้นกดเลือกที่กล้องถ่ายรูปเพื่อค้นหาด้วยภาพ

3. คลิกเลือกที่คำว่า "อัพโหลดภาพ"

4. จากนั้นก็คลิกที่ปุ่มคำว่า "เลือกไฟล์" แล้วเราก็เลือกรูปที่ต้องสงสัยซึ่งดาวน์โหลดเอาไว้แล้ว จากข้อ 1

5. จากนั้นระบบก็จะค้นหาอย่างรวดเร็ว ว่ามีรูปภาพที่คล้ายกับรูปที่เราอัพโหลดไปหรือไม่

6. จากนั้นก็จะได้ผลการค้นหาออกมา เราก็สามารถตรวจสอบได้ว่ารูปที่เราสงสัยนั้นมีการนำภาพเก่ามาเล่าใหม่ หรือมีการ ตัดต่อ เติมแต่ง หรือบิดเบือนความจริงหรือไม่

7. สำหรับใครใช้สมาร์ตโฟนอาจไม่สามารถอัพโหลดภาพจากเครื่องเพื่อค้นหาภาพได้ ให้เราไปคัดลอก url ของภาพที่เราสงสัยมาก่อน แล้วในขั้นตอนที่ 3 ก็ให้เราเลือกเมนู "วาง url ของภาพ"

จากนั้นก็วาง url ของภาพไว้ในช่องค้นหา ระบบของกูเกิ้ล ก็จะค้นหารูปภาพของเราออกมาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์หรือบนสมาร์ตโฟน เราก็มีวิธีค้นหาที่ง่ายกว่าก็คือ ให้เราคลิกขวาที่รูปที่เราสงสัย จากนั้นเลือกคำว่า "ค้นหาภาพนี้ในกูเกิ้ล" แล้วระบบก็จะค้นหาในทันทีครับ