ผลไม้ชุบแวกซ์มันๆ เงาๆ อันตรายไหม

ผลไม้ชุบแวกซ์มันๆ เงาๆ อันตรายไหม

ตอบ แม่ลูกเจี๊ยบ

คำตอบได้มาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อ.สุนทร ตรีนันทวัน เขียนเรื่องแวกซ์ผลไม้ไว้ว่า ปัจจุบันผลไม้หลายชนิด เช่น มะม่วง แพร์ พลับ พลัม ส้ม แอปเปิ้ล ฯลฯ ส่วนใหญ่มักจะมีผิวที่มีความเป็นมัน เงา ทำให้ดูสวยน่าซื้อ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผลไม้เหล่านั้น ผ่านการแวกซ์ (Waxing) หรือเคลือบผิว หรือที่เราพูดกันว่า แวกซ์ผลไม้ จึงทำให้ผิวของผลไม้เหล่านั้นดูสวยงาม




ซึ่งปัจจุบันการเคลือบผิวผลไม้และผักทำกันแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเขตหนาวซึ่งต้องขนส่งผลิตผลทางการเกษตรจากแหล่งปลูกที่อยู่ไกลๆ หรือนำเข้ามาจากประเทศอื่น

ความจริงในธรรมชาติ ผิวของผลไม้เหล่านี้มีสารจำพวกไขที่ช่วยปกป้องกันการสูญเสียน้ำจากการคายน้ำออกมาที่ผิวของผลไม้อยู่แล้ว แวกซ์ตามธรรมชาตินี้ทำให้เปลือกของผลไม้บางชนิด เช่น องุ่น บลูเบอร์รี่ มองดูคล้ายมีแป้งขาวๆ เคลือบอยู่ที่ผิว ซึ่งเกิดจากแวกซ์ธรรมชาติสัมผัสกับอากาศร้อนหรือความชื้น การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างเดียวกับการบลูม (Blooming) ในช็อกโกแลตที่เก็บไว้นานๆ นั่นเอง องุ่นหรือบลูเบอร์รี่เหล่านี้เมื่อนำไปล้างน้ำก็ยังมีเคลือบผิวขาวๆ ติดอยู่ แต่เราก็สามารถรับประทานได้

อย่างไรก็ตาม แวกซ์ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องผลไม้เหล่านั้นไว้ได้นานๆ เนื่องจากกระบวนการจัดการเก็บ ล้างทำความสะอาด บรรจุลงกล่อง ลำเลียงขนส่งไปยังผู้บริโภคที่อยู่ไกลๆ หรือเก็บรักษาไว้นาน จะทำให้แวกซ์เหล่านั้นหลุดลอกหายไปได้ ผลไม้จึงสูญเสียน้ำทำให้เหี่ยวเร็ว

เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้ามาก ผู้ผลิตจึงใช้สารเคลือบผิวมาเคลือบผลไม้เพื่อให้ผลไม้ดูสวยงามและรักษาความสดไว้ได้มากที่สุด ป้องกันการระเหยหรือการสูญเสียน้ำของผลไม้เหล่านั้น ทั้งยังช่วยปกป้องไม่ให้เกิดรอยช้ำและความเสียหายอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการกระแทกระหว่างการลำเลียงขนส่ง จึงทำให้เก็บผลไม้ ผัก คงความสดใหม่ไว้ได้นานและไม่เหี่ยว

แวกซ์จัดเป็นสารประเภทไขที่ใช้สำหรับเคลือบผิวผลไม้ ที่ใช้กันเป็นหลักมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.แวกซ์จากธรรมชาติ แยกได้เป็น แวกซ์ที่ได้มาจากพืช เช่น แวกซ์คาร์นาวบา สกัดมาจากใบของต้นปาล์ม และแวกซ์ที่ได้มาจากสัตว์ เช่น สารไคโตซาน สกัดได้จากกระดองของปู กระดองของหมึก และเปลือกของกุ้ง บีแวกซ์ได้มาจากขี้ผึ้ง มูลครั่ง หรือชะแล็ก โดยส่วนใหญ่แวกซ์ที่นิยมกันมากในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย คือ ชะแล็ก

2.แวกซ์จากสารสังเคราะห์ ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เช่น โพลิเอทิลีน แวกซ์, โพลิเอทิลีน ไกลคอล

แวกซ์ทั้ง 2 ประเภทเป็นแวกซ์ที่รับประทานได้ ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสเอฟดีเอ มีหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภค เติมลงไปในอาหารได้เช่นเดียวกับน้ำส้มสายชู เครื่องเทศ สมุนไพรต่างๆ

ส่วนในประเทศไทยควบคุมการผลิตภายใต้ข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ ผลไม้ ผักที่นำมาแวกซ์หรือเคลือบผิว จะต้องล้างจนมั่นใจว่าสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน รวมถึงยาฆ่าแมลงหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ตกค้างอยู่บนผิว เพราะแวกซ์จะเคลือบกักสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเอาไว้ด้วย

การแวกซ์ทำได้โดยการพ่นฝอยหรือจุ่มลงในสารเคลือบผิวซึ่งสามารถเคลือบเป็นชั้นฟิล์มบางๆ โดยใช้สารเคลือบผิวในปริมาณที่น้อยมากๆ ทั้งนี้มีข้อมูลว่าใช้แวกซ์เพียงครึ่งกิโลกรัม เคลือบผิวของแอปเปิ้ลได้นับหมื่นๆ ผล