สนามบินร้าง ทั่วโลก

สนามบินเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่มีผู้โดยสารหลายร้อยคนใช้บริการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด แต่หลายแห่งถูกทิ้งร้างมานานเพราะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่หรือไม่ก็เป็นผลมาจากสงคราม มันจึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สนามบินผี” หรือร้างนั่นเอง

ลองมาดูว่ามีสนามบินร้างหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้างในโลกนี้


Tempelhof เบอร์ลิน: แม้อาคารผู้โดยสารเก่าจะถูกทิ้งร้าง แต่สนามบิน Tempelhof กลับกลายเป็นสถานที่ที่คนในกรุงเบอร์ลินได้ใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุด หลังจากที่หยุดให้บริการเป็นเวลา 7 ปี ลานของสนามบินกลายเป็นสวนสาธารณะที่คนมาวิ่งและขี่จักรยาน นอกจากนี้ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมต่างๆ โดยในปี 2017 มีแผนจะจัดนิทรรศการพืชสวนระหว่างประเทศที่นั่นด้วย

สนามบิน Nicosia ไซปรัส : ตั้งอยู่ใกล้กับนิโคเซีย เมืองหลวงของไซปรัส สนามบินนี้ไม่มีสายการบินพาณิชย์มาใช้บริการตั้งแต่ปี 1977 หรือ 3 ปีหลังจากรัฐบาลทหารในประเทศได้สนับสนุนให้คนเชื้อชาติกรีซทำการรัฐประหารนายกรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายตุรกีและหลังจากนั้นก็ถูกรุกรานโดยกองกำลังของตุรกี

มีการต่อสู้อย่างรุนแรงเกิดขึ้นที่สนามบินซึ่งเป็นเขตพื้นที่กันชนและควบคุมโดยสหประชาชาติหลังจากมีการลงนามหยุดยิงระหว่างกรีซและตุรกี ทุกวันนี้สนามบินยังคงถูกใช้โดยสหประชาชาติ แต่ตัวอาคารผู้โดยสารมีสภาพทรุดโทรมมาก

เครื่องบินทรุดโทรมถูกจอดทิ้งบนรันเวย์ ที่นั่งภายในอาคารผู้โดยสารมีฝุ่นจับหนาเตอะ ฝ้าเพดานผุพังและยังมีรั้วลวดหนามขึงกันรอบสนามบิน

สนามบิน Ellinikon กรุงเอเธนส์ : สนามบินแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามบินที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและเคยเป็นสนามบินหลักของเมืองหลวงของกรีซมาถึง 60 ปี มันถูกยึดโดยพวกนาซีและใช้เป็นฐานทัพอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาถูกปิดในปี 2001 เมื่อสนามบินนานาชาติเอเธนส์เปิดให้บริการ

ในปี 2004 มันได้รับการดัดแปลงให้เป็นสวนสาธารณะที่ใช้จัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนรวมทั้งสนามแข่งกีฬาฮอกกี้และเบสบอลด้วย

สนามบิน Yasser Arafat ฉนวนกาซา: สนามบินต้องกลายเป็นซากปรักหักพังหลังจากประสบกับสงครามมาหลายปีและถูกปล่อยทิ้งร้างด้วยทั้งๆ ที่มันเคยเป็นความภาคภูมิใจของชาวปาเลสไตน์

สนามบินแห่งนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวโมร็อกโก สร้างขึ้นในปี 1998 ที่เมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ งบประมาณที่ใช้สร้างมาจากทุนต่างประเทศราวหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์และบิล คลินตัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นประธานในพิธีเปิด แต่ก็ถูกปิดใน 3 ปีต่อมาหลังจากที่กองกำลังอิสราเอลทิ้งระเบิดลงที่สถานีเรดาร์และหอควบคุมรวมถึงรันเวย์และอาคารผู้โดยสาร

Floyd Bennett Field นิวยอร์กซิตี้: เป็นสนามบินเทศบาลแห่งแรกของนิวยอร์กซิตี้ มันตั้งอยู่ในสวนมารีนในเขตบรู้กลินและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 1931

สนามบินแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นจุดสตาร์ทการบินเพื่อทำสถิติของนักบินชื่อดังอย่างอะมิเลีย เอียร์ฮาร์ทและโฮเวิร์ด ฮิวจส์ ต่อมามันถูกเปลี่ยนเป็นฐานทัพอากาศในปี 1941

ตอนนี้กลายเป็นสวนสาธารณะที่ดูแลโดยสำนักงานอุทยานแห่งชาติ เป็นสถานีจอดเฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจนิวยอร์ก ที่ตั้งแคมป์และโครงการบูรณะอากาศยานประวัติศาสตร์

Jaisalmer อินเดีย: สนามบินใหม่ของเมือง Jaisalmer สามารถรองรับผู้โดยสารได้หลายแสนคนต่อปีแต่กลับไม่เคยได้บริการผู้โดยสารแม้แต่คนเดียว

แม้จะถูกสร้างขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนด้วยงบประมาณมากกว่า 600 ล้านบาท สนามบินในเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐราชสถานยังคงปิดให้บริการและเริ่มเห็นสัญญาณของการทรุดโทรม ที่นั่งมีฝุ่นจับหนาเตอะ ผนังมีรอยเปื้อนเต็มไปหมด นกเข้ามาทำรังบนหลังคาและมีกระดูกของสัตว์กระจัดกระจายอยู่ที่ทางเข้า

Ciudad Real สเปน: ต้นปี 25580ที่ผ่านมา บริษัท Tzaneen International ของจีนเสนอราคาประมูลซื้อสนามบินแห่งนี้ในราคา 4 แสนบาท แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเพราะราคาต่ำเกินไปจึงมีการเปิดประมูลใหม่

สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินที่มีรันเวย์ยาวที่สุดในยุโรปแห่งหนึ่ง ใช้งบประมาณในการสร้างราว 4 หมื่นกว่าล้านบาทในยุคเศรษฐกิจสเปนเฟื่องฟู มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้งบที่สิ้นเปลืองหลังจากที่ต้องปิดให้บริการในปี 2012 หรือ 4 ปีหลังจากเปิดตัว

ก่อนปิดตัวมันเป็นสนามบินที่ใช้บริการโดยสายการบินโลว์คอสต์อย่าง Ryanair และ Vueling แต่ในอนาคตอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางของเที่ยวบินขนส่งสินค้าจีนถ้า Tzaneen International ประมูลได้