อาการเริ่มต้น 10 อย่าง ที่บ่งบอกว่าไม่มีความสุขในการทำงาน
1. เริ่มถ่วงเวลาหรือทำงานช้า
• ความเชื่อ – เพราะไม่มีความสามารถเพียงพอในการทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือเป็นคนขี้เกียจ ไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี
• ความจริง - สัญชาตญาณของคนส่วนใหญ่อยากทำงานให้เสร็จเร็วๆ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราทำงานเสร็จไม่ทันเวลา หรือเสร็จทันแต่ก็สุกเอาเผากินอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นบ่อยๆ และเป็นทุกงาน คงต้องลองสังเกตว่าเรารู้สึกไม่มีความสุขในที่ทำงานหรือเปล่า
2. รู้สึกไม่อยากตื่นขึ้นมาทำงานในเช้าวันจันทร์
• ความเชื่อ – งานหนักมากเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถลุกขึ้นมาทำงานอย่างสดชื่นในเช้าวันจันทร์ได้
• ความจริง – ความเครียดเริ่มตั้งแต่คืนวันอาทิตย์แล้วโดยเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขแม้กระทั่งเวลาที่ไม่ได้ทำงาน เพราะอย่างน้อยที่สุดต่อให้ทำงานหนักจนแทบไม่ได้นอนแค่ไหนถ้าได้กลับบ้านแล้วนอนแผ่บนเตียงก็น่าจะรู้สึกสบายขึ้น ดังนั้นการนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์จนโทรมมาถึงเช้าวันจันทร์อาจไม่ได้เกิดจากงานหนักแต่เกิดจากความรู้สึกไม่เป็นสุขเวลาทำงานก็ได้
3. ไม่อยากทำงานเพื่อให้ได้เลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่ง
• ความเชื่อ – เพราะไม่ได้อยากแข่งขันกับใคร
• ความจริง – แม้เราไม่ได้อยากแข่งขันกับใคร แต่เป็นความรู้สึกพื้นฐานของทุกคนที่ทำงานแล้วควรได้รับผลตอบแทนอย่างน้อยก็สมน้ำสมเนื้อกับที่ลงแรงไป แต่ถ้าเราไม่ชอบและรู้สึกไม่มีความสุขกับงาน เรามักจะหาความชอบธรรมในการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไปวันๆ โดยไม่หวังความก้าวหน้า เช่น เปรียบเทียบเพื่อนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกันแต่ได้เงินเดือนมากกว่าหรือหัวหน้างานที่เก่งสู้เราไม่ได้ แล้วคิดว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ดังนั้นทำให้น้อยๆ ดีกว่า
4. รู้สึกไม่อยากช่วยงานคนอื่น
• ความเชื่อ – เป็นคนไม่มีน้ำใจ
• ความจริง – เพื่อนเราอาจจะยัดเยียดงานให้เราเสมอจนเราเซ็งเลยไม่อยากช่วยได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราเป็นแบบนี้กับทุกคนและรู้สึกไม่อยากช่วยทุกงาน บางทีอาจจะเกิดจากอารมณ์ไม่เป็นสุขของเราก็ได้ เคยมีงานวิจัยทางจิตวิทยาโดยให้คนๆ เดียวกันเดินลงไปอีกห้องหนึ่งชั้นล่างในช่วงที่อารมณ์ดีกับอารมณ์ไม่ดี ขณะเดินจะต้องผ่านคนซึ่งหอบของพะรุงพะรังผ่านมาด้วย ผลปรากฏชัดเจนว่าถ้าเขาเดินไปตอนอารมณ์ดีเขาจะช่วยถือของพะรุงพะรัง แต่ถ้าเดินไปตอนอารมณ์ไม่ดีอาจจะช่วยหรือไม่ช่วยแต่ใจรู้สึกไม่มีอารมณ์อยากช่วยเท่าไร
5. รู้สึกว่าเวลาทำงานแต่ละวันยาวนานเหลือเกิน
• ความเชื่อ – ใช้เวลาในการทำงานมากเกินไปแล้ว
• ความจริง – ถ้าสิ่งแรกที่ทำเมื่อนั่งลงที่โต๊ะทำงานคือการมองนาฬิกาแล้วนับถอยหลังว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน นั่นคืออาการเริ่มต้นของความรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงานแล้วเพราะทั้งๆ ที่เวลาทำงานเท่าเดิมและเท่ากันทุกคนแต่เรากลับรู้สึกเหมือนนานกว่าปกติ
6. ไม่มีเพื่อนในที่ทำงานเลย
• ความเชื่อ – เป็นคนรักสันโดษ
• ความจริง – เคยมีการศึกษาเรื่องความรู้สึกผูกพันกับสถานที่ทำงาน พบว่าต่อให้เป็นคนที่รักสันโดษมากแค่ไหน หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถทำนายได้ว่าพนักงานคนนี้มีความสุขคือมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานอย่างน้อยหนึ่งคน
7. ไม่แคร์อะไรทั้งนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้าย
• ความเชื่อ – เป็นธรรมดา ถ้าไม่ใช่เรื่องของเราก็ไม่ควรไปยุ่งมาก
• ความจริง - การไม่สนใจว่าคนอื่นหรือที่ทำงานจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรอาจเกิดจากเราสนใจแต่เฉพาะเรื่องของตัวเองก็ได้ เพราะถ้าเราไม่สนใจอะไรเลยแม้แต่ตัวเองก็คงเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้ว ดังนั้นการสนใจแต่เรื่องของตนเองแต่ไม่ยี่หระที่ทำงานอาจเกิดจากรู้สึกไม่มีความสุขขณะทำงานก็ได้
8. รำคาญแม้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
• ความเชื่อ – คนเรามีความอดทนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะความอดทนต่ำ
• ความจริง – แม้ความอดทนของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางคนดื่มกาแฟเย็นชืดได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่บางคนแค่กาแฟไม่ร้อนก็หงุดหงิดจะแย่แล้ว แต่อย่างน้อยในสถานที่ทำงานก็ควรมีความอดทนในระดับหนึ่งเพื่อให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากรู้สึกว่าหงุดหงิดกับทุกเรื่องแม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่ควรหงุดหงิดอาจเป็นเพราะความรู้สึกไม่มีความสุขทำให้ระดับความอดทนของเราต่ำลงและพร้อมจะระเบิดได้ง่ายขึ้น
9. เริ่มระแวงสงสัยในเจตนาของผู้อื่น
• ความเชื่อ – ถ้าเราไม่รู้จักระวังตัวก็จะโดนหลอกเอาได้
• ความจริง – ไม่ว่าคนอื่นจะทำเรื่องดีหรือไม่ดีกับเราก็ตาม ถ้าเรามีความสุขในที่ทำงานเราจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้เก็บมากคิดมากอะไร ไม่ได้คิดว่าเป็นบุญคุณล้นเหลือหรือแค้นที่ต้องชำระแต่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าเราไม่มีความสุขมักจะตามมาด้วยความระแวงสงสัยแม้ว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีเจตนาไม่ดีก็ตาม
10. เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ
• ความเชื่อ – งานหนักมากจนทำให้ป่วย
• ความจริง – อาการป่วยหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้ เช่น นอนไม่หลับ, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลียไม่มีแรง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, หรืออาการไม่สบายตามร่างกายที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็มากพอที่ก่อให้เกิดความรำคาญและรักษาเท่าไรก็ไม่หายอาจจะเกิดจากความเครียดในสถานที่ทำงานได้ แม้ความเครียดอาจเป็นเรื่องดี เช่น ได้รับมอบหมายงานชิ้นสำคัญหรือหัวหน้าวางใจให้รับผิดชอบลูกค้ารายใหญ่ อาจจะทำให้ป่วยกระเสาะกระแสะได้ แต่เมื่องานผ่านพ้นไปด้วยดีแล้วอาการป่วยควรจะลดลงหรือหายไป (หรืออาจจะป่วยหนักขึ้นหากงานล้มเหลว) แต่อาการป่วยจากความเครียดเพราะรู้สึกไม่มีความสุขยังคงไม่หายไปแม้ว่างานหนักจะผ่านไปแล้วก็ตาม