เรื่องน่ารู้วันนั้นของเดือน ปวดประจำเดือน ทำไงดี?

ช่วงปลายปีอากาศเริ่มเย็นสบาย สาวๆ หลายคนอยากใส่ชุดสวย ออกไปเดินช็อปปิ้ง คงไม่อยากนอนอยู่บ้านเพราะปวดประจำเดือนแน่นอน ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจึงรวบรวมเรื่อง น่ารู้ เกี่ยวกับภาวะปวดประจำเดือนมาให้ได้รู้จักมากขึ้น




ภาวะปวดประจำเดือน คืออาการ ปวดที่เกี่ยวเนื่องจากการมีประจำเดือน (Dysmenorrhea) พบในวัยรุ่นร้อยละ 90 สตรีทั่วไปร้อยละ 50 โดยร้อยละ 10-20 จะมีอาการปวดที่รุนแรง และมักเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน

ปัจจัยเสี่ยง อาทิ การมีประวัติปวดประจำเดือนในครอบครัว, อายุน้อยกว่า 30 ปี, มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี, ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 หรือมากกว่า 30, ยังไม่มีบุตร, สูบบุหรี่, ประจำเดือนมาในปริมาณมากและยาวนาน, เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ, ลำไส้ทำงานผิดปกติ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นต้น

การปวดประจำเดือนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.แบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) เกิดจากการหดเกร็งตัวของมดลูก ในขณะที่มีประจำเดือน สาเหตุเนื่องมาจากพรอสตาแกลนดินส์ ที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก หลั่งออกมามากในช่วงวันแรกของการมีประจำเดือน ทำให้มดลูกหดเกร็ง เพื่อขับประจำเดือนออกมา และเมื่อขับเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกออกมาแล้ว ระดับพรอสตาแกลนดินส์จะลดลง

2.แบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) สาเหตุมาจากความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ อาการปวดมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถหายได้เอง สาเหตุคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ เช่น ถ้าเจริญเติบโตที่รังไข่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ที่เต็มไปด้วยเลือดประจำเดือน หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ถ้าเกิดที่ท่อนำไข่จะถูกดึงรั้งหรืออุดตัน เป็นต้น

การตรวจหาสาเหตุ สามารถตรวจด้วยอัลตราซาวด์ แต่ถ้าตรวจแล้วไม่พบการผ่าตัดอาจมีความจำเป็นเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอดสามารถทำได้ แต่ต้องทำโดยสูตินรีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ

การรักษาการปวดแบบปฐมภูมิ เบื้องต้นแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด ลดการอักเสบในกลุ่มที่มิใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เพื่อลดระดับของพรอสตาแกลนดินส์ สามารถลดอาการปวดได้ประมาณร้อยละ 40 ให้รับประทานในช่วงแรกของการมีประจำเดือนเท่านั้น สตรีที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ, หอบหืด, แพ้ยากลุ่มแอสไพริน, ตับทำงานไม่ปกติ หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้

นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดสามารถลดอาการปวดได้ร้อยละ 50 โดยเลือกใช้ชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ซึ่งอยู่ในรูปแบบเม็ดรับประทาน

การรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ได้แก่ การใช้วิตามิน B1, B6, B12, E หรืออาหารเสริมที่มีแมกนีเซียม, Fish oil การเล่นโยคะ, การฝังเข็มก็อาจช่วยลดภาวะปวดประจำเดือนได้เช่นกัน