ดอกไม้ไฟ ความสวยงาม เสน่ห์แห่งความทรงจำ - ความเป็นมา

ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ต่อโยงไปถึงคริสต์มาส-ปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ นอกจากบรรยากาศความรื่นเริงบันเทิงใจก็เห็นจะได้แก่ความตระการตาของ “ดอกไม้ไฟ” ที่เปล่งแสงสว่างไสวเหนือดาวดวงใด ๆ ยามค่ำคืน

มหัศจรรย์ ‘ดอกไม้ไฟ’ เสน่ห์แสงแห่งความทรงจำ

นับเนื่องแต่อดีตกาล มูลเหตุแห่งความตื่นตาตื่นใจของแสงดาวที่เกิดจากเม็ดดินนี้ว่ากันว่า มีที่มาจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ได้ริเริ่มนำส่วนผสม 3 อย่าง ประกอบด้วย ซัลเฟอร์ ถ่าน และดินประสิว ใส่เข้าไปในปล้องไม้ไผ่และจุดไฟ จากนั้นปล้องไม้ไผ่ได้พุ่งขึ้นพร้อมกับเกิดประกายไฟ และมีเสียงระเบิดดังขึ้น เรียกประดิษฐกรรมชิ้นนี้ว่า “ประทัด”



ต่อมา ต้นศตวรรษที่ 17 นักเทคนิคด้านดอกไม้ไฟชาวยุโรปได้คิดประดิดประดอยลักษณะการระเบิดของดอกไม้ไฟเพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อตกแต่งฉากสถานที่ประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ความบันเทิงแบบนี้ได้รับความนิยมไปทั่ว จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติใช้จุดเพื่อสร้างบรรยากาศความครึกครื้นในงานรื่นเริงต่าง ๆ อาทิ งานลอยกระทง งานฉลองเทศกาลปีใหม่ รวมถึงงานพิธีสวนสนามของเหล่าทหารรักษาพระองค์ ตลอดจนงานพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันกีฬาระดับโลก

ความโดดเด่นของพลุหรือดอกไม้ไฟ รวมถึงชนิดของพลุ การประดิษฐ์พลุ วิวัฒนาการและเทคนิคการจุดเพื่อให้ได้พลุที่มีความสวยงาม สราวุฒิ ต่ายทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลุ-ดอกไม้ไฟ เจ้าของบริษัทไทยแลนด์ ไฟร์เวิร์ค จำกัด บอกเล่าให้ฟังว่า ความสวยงามโดดเด่นของพลุ หรือดอกไม้ไฟ ถือได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีความพิเศษนั่นคือ นอกจากจะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งยังต้องอาศัยความชำนาญ ความประณีต และการประดิษฐ์ด้วยมือแล้ว ประกายแสง สี เสียง ความงดงามของ ดอกไม้ไฟยังไม่สามารถเก็บไว้ให้จับต้อง ดอกไม้ไฟแต่ละลูกหลังถูกจุดจะเปล่งแสงสวยงามเพียงแค่ 5 วินาที จากนั้นก็เลือนหายไป คงเหลือไว้แต่ความประทับตาประทับใจและถูกเก็บบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพถ่ายเท่านั้น

พลุมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 2 ประเภท ได้แก่ พลุสำหรับใช้งานตอนกลางวัน ซึ่งจะมีเสียงดังอย่างเดียว มักใช้จุดในงานศพ และ พลุสำหรับใช้งานตอนกลางคืน เมื่อจุดระเบิดออกมาจะมีแสง สี และลวดลายสวยงามตระการตา ทั้งรูปคน สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ ผีเสื้อ วงกลม วงรี ฯลฯ

ขั้นตอนการทำพลุ เริ่มจากการนำสารเคมีที่สามารถจุดไฟได้ ประกอบด้วย  โพแทสเซียมเปอร์คลอเรท ดินประสิว และถ่านกำมะถันมาผสมกันแล้วใส่สีต่าง ๆ ผสมเข้าไป จากนั้นก็ปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ นำไปเรียงใส่ลงไปในเปลือกพลุ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกะลามะพร้าวแบ่งครึ่ง (พลุที่ได้จะออกมามีสีสันสวยงามมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเรียงเม็ดดิน) หลังจากนั้นนำเปลือกพลุทั้งสองซีกมาประกบกันแล้วใช้กระดาษพันทับให้แน่น ปัจจุบันพลุมีขนาดตั้งแต่ 1 นิ้ว ถึง 16 นิ้ว มีราคานัดละ 100 บาท จนถึง 30,000 บาท

โรงงานทำพลุของคนไทยปัจจุบันสามารถทำพลุขึ้นใช้เอง แต่ไม่ถึงขั้นส่งออกนอก โดยส่วนใหญ่จะสั่งซื้อสารเคมีจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ถ้าในแถบยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสารเคมีคุณภาพดีส่งขายทั่วโลกก็ได้แก่ สเปน อย่างไรก็ตาม พลุที่ผลิตได้จะมีคุณภาพดี มีสีสันสวยงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแหล่งเลือกซื้อสารเคมีด้วย แหล่งผลิตสารเคมีคุณภาพสูงหากเปรียบเทียบกันระหว่างยุโรปและเอเชีย ในแถบยุโรปถึงแม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ก็จะมีคุณภาพดีและให้แสงสีที่สวยงามกว่า

การจุดพลุเพื่อให้ได้พลุที่มีชีวิต มีสีสันดึงดูดใจผู้ชมขึ้นอยู่กับเทคนิคการจุดเป็นสำคัญ อันดับแรกต้องมีการวางแผนการจุด ต้องรู้ว่าพื้นที่ที่จะทำการแสดงนั้นเหมาะสำหรับพลุขนาดไหน การจุดพลุส่วนใหญ่จะต้องยิงให้สูงจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 80 เมตร ระหว่างการจุดต้องคำนึงถึงอารมณ์ผู้ชม เทคนิคพิเศษที่จะทำให้การแสดงพลุแต่ละครั้งมีความยิ่งใหญ่งดงามตระการตาประทับใจผู้ชม คือการจัดลำดับการจุดพลุแต่ละชุด โดยพลุลูกใหญ่มักใช้ยิงปิดท้าย เพื่อแสงสีที่ได้จะบานใหญ่ และมีความดังที่สุด รวมถึงการถ่วงเวลาจุดพลุแต่ละลูก ที่ต้องค่อย ๆ ปล่อยเพื่อให้พลุขึ้นไปแตกแทนที่กันได้อย่างกลมกลืนและต่อเนื่อง

และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวบางตอนของพลุ-ดอกไม้ไฟที่หากมองข้ามโทษภัย และรู้จักใช้อย่างระมัดระวังแล้วละก็ พูดได้เลยว่า...

นี่แหละ...คืออีกหนึ่งบทบันทึกความทรงจำ ที่มักเกิดขึ้นเคียงคู่งานเฉลิมฉลอง และงานพิธีอันยิ่งใหญ่ที่อยากให้ประทับอยู่ในใจของมวลมนุษยชาติตราบนานแสนนานแท้จริง.

แรกมี ‘เล่นไฟ’ ในสยาม

การจุดดอกไม้ไฟของคนไทย สันนิษฐานว่า เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือประมาณกว่า 700 ปีมาแล้ว จากหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเมื่อ พ.ศ.1835 มีว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง...คนเสียดกันมาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยมีดังจักแตก” จึงสันนิษฐานว่า “การ เผาเทียน การเล่นไฟ” ก็คือ การจุดดอกไม้ไฟนั่นเอง จากนั้นก็ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา

จะเห็นได้จากศิลาจารึกในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช เมื่อ พ.ศ. 1913 ที่ได้บรรยายถึงการแห่แหนการจุดดอกไม้ไฟไว้ว่า “มหาชน ลูกเจ้าลูกขุน มนตรีทั้งหลาย ยายกัน ให้ถือกระทงข้าวตอก ดอกไม้ใต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณ ฆ้อง กลอง...” จึงแสดงว่าคนไทยนิยมจุดดอกไม้ไฟกันเรื่อยมา ซึ่งสมัยก่อนอาจมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีไทยอีกหลายเรื่องที่ระบุถึงการเล่นดอกไม้ไฟของคนไทย ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังถือปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้